บทความนี้ ผมตั้งใจที่จะทำเป็นคู่มือ สร้างเว็บไซต์ WordPress ฉบับ SHORTCUT 101 จริงๆ สำหรับเพื่อนๆ ที่ไม่มีพื้นฐานมาก่อน เริ่มจาก ZERO เลย ผมจะพาฉายมุมกว้างทุกขั้นตอน ตั้งแต่ Step ที่ 1 จนถึง Step ที่เว็บสามารถออนไลน์ได้จริง
ไม่ใช่โปรแกรมเมอร์ ไม่ใช่คนเรียนด้านไอที ไม่ใช่คนทำงานด้านเว็บ แล้วจะสร้างเว็บไซต์ WordPress ด้วยตัวเองได้หรือเปล่า? คำตอบคือ ได้ คำถามถัดมา แล้วจะเริ่มจากตรงไหน?
สำหรับใครที่อยากสร้างเว็บไซต์เอง ต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มจากจุดไหนดี ในบทความนี้ผมจะพาเพื่อนๆ ไปเริ่มสร้างเว็บไซต์ WordPress ด้วยตัวเองแบบที่เริ่มจาก Zero จริงๆ ทีละขั้นทีละตอน จากที่ไม่มีเว็บไซต์เลย จบบทความ ถ้าทำตาม ก็จะมีเว็บไซต์ของตัวเองได้ แบบที่ไม่ต้องเขียน CODE เลยแม้แต่คำเดียว
1. เลือก WordPress .com หรือ .org (เลือกผิดชีวิตเปลี่ยน)
WordPress จะมี 2 แบบให้เลือก คือ .com กับ .org ซึ่งแต่ละแบบ ถึงแม้ว่าเป็น CMS เดียวกัน แต่กลุ่มเป้าหมายจะคนละกลุ่มเลย ความยืดหยุ่น ข้อจำกัดต่างๆ เรามาดูกันว่า ควรเลือกแบบไหนดีระหว่าง .com หรือ .org
WordPress.org คืออะไร
WordPress.org คือ ระบบ CMS แบบ Open-Source ใช้ได้ฟรี 100% เราต้องไปดาว์นโหลดไฟล์มาติดตั้งด้วยตัวเอง เช่า Domain และ Hosting ด้วยตัวเอง โดยที่แก่นของ .org คือ “ความยืดหยุ่นในการปรับแต่ง เราเป็นเจ้าของเว็บไซต์” ทั้งหมด
ภาพรวมคือ สำหรับมือใหม่อาจจะต้องเรียนรู้กันเยอะหน่อย วิธีการจดโดเมน วิธีการเช่าโฮสติ้ง วิธีการติดตั้ง WordPress ด้วยตัวเอง ทุกอย่างเราต้อง Set-Up เองทั้งหมด แต่ก็ไม่ได้ยากขนาดนั้นครับ ต่อให้เราไม่มีพื้นฐานมาก่อน ผมมั่นใจว่าเพื่อนๆ ทำได้ด้วยตัวเอง
แค่ทำตามที่ผมไกด์ในบทความนี้ครับ รับรองว่าจบบทความ ได้เว็บไซต์กลับไปแน่นอน
WordPress.com คืออะไร
WordPress.com คือ เครื่องมือสร้างเว็บไซต์ “สำเร็จรูป” มีทั้งแบบฟรี และเสียเงิน ทั้งแบบ .org และ .com ใช้พื้นฐานเหมือนๆ กัน มีระบบหลังบ้านคล้ายๆ กันเลย แต่จุดที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนคือ .com “ไม่ต้องจด Domain และ เช่า Hosting ด้วยตัวเอง ระบบเตรียมให้เราหมดแล้ว”
ภาพรวมคือ เราแค่สมัครสมาชิก ตั้งค่านิดหน่อย ใช้ได้เลย เหมือนๆ กับการสร้างเพจในเฟสบุ๊คเลยครับ ถ้าแบบฟรีรูปแบบ URL จะเป็นแบบนี้ “tumweb.wordpress.com” แต่เราสามารถจดเป็นชื่อ Domain ของเราเอง โดยการอัพเกรดสมาชิก
ถ้าแพคเกจล่างๆ ก็จะทำอะไรได้ไม่มาก ต้องอัพเกรดแพคเกจที่สูงขึ้น ถึงจะปรับแต่งได้แบบอิสระ ซึ่งค่าแพคเกจก็แพงใช้ได้ ต้องจ่ายเท่าๆ กันทุกปี แต่ก็แลกมากับการไม่ต้องติดตั้งเองให้วุ่นวาย
ถ้าต้องการความเป็นเจ้าของ 100% ความยืดหยุ่นในการปรับแต่ง ให้เลือก .org
ถ้าต้องการแนวสำเร็จ แค่สมัครสมาชิก จ่ายเงินค่าแพคเกจก็ใช้ได้ ไม่มีเวลาดูแลโฮสติ้ง แก้ไขปัญหาต่างๆ ก็เลือก .com
2. สร้างเว็บไซต์ WordPress(.org) 1 เว็บ มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง
แบ่งเป็น 2 แบบ แบบแรกคือ ทำเว็บไซต์ด้วยตัวเอง แบบสองคือ จ้างทำเว็บไซต์ ในที่นี้ผมจะพูดถึงค่าใช้จ่ายแบบรวมๆ ว่าปกติแล้วน่าจะมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง บางข้ออาจจะไม่จำเป็นก็ได้ เช่น ปลั๊กอิน ธีม Premium ถ้าอยากประหยัดใช้ตัวฟรี ก็ไม่ต้องเสียตรงนี้
เช่าพื้นที่ WordPress Hosting (500-3,500/ปี)
โฮสติ้ง คือ พื้นที่ ที่เราจะเอาเว็บไซต์เราไปฝาก ซึ่งโฮสติ้งก็มีหลายที่ ทั้งในไทยและต่างประเทศ แต่ด้วยความที่เป็น WordPress มีโฮสติ้งบางที่ไม่รองรับ WordPress คือติดตั้งได้แต่อาจจะมีฟังก์ชันบางอย่างไม่สมบูรณ์ ฉะนั้น ผมมักจะแนะนำให้หา โฮสติ้งที่รู้ใจ WordPress
ถ้าเลือกโฮสติ้งที่ไม่มีคุณภาพ อาจจะทำให้เว็บไซต์โหลดช้า ทำงานไม่สมบูรณ์ หรือ มีปัญหาอื่นๆ ตามมาให้เราปวดหัว
ราคาค่าเช่าโฮสติ้ง จะแตกต่างกันตามประเภทของโฮสติ้ง และตามสเปคที่ใช้งาน
ผมแนะนำให้อ่านบทความนี้ ผมได้เขียนแบบละเอียดมากๆ วิธีเลือก WordPress Hosting ที่รู้ใจ WordPress
จดชื่อเว็บไซต์ Domain Name (100-1,000/ปี)
โดเมน หรือ Domain Name คือ ชื่อเว็บไซต์ ซึ่งจะมีหลากหลาย ที่นิยมใช้ ก็จะมี .com, .net, .in.th, co.th, .co ส่วนราคาค่าจดโดเมน แต่ละดอทจะไม่เหมือนกัน และผมแนะนำให้จดที่เดียวกับที่เช่าโฮสติ้ง เพราะเวลาต่ออายุ จะได้ต่อพร้อมๆ กัน
ซื้อ Plugins Premium (0 – 10,000฿) *ไม่จำเป็น
ปลั๊กอิน คือ ส่วนเสริมของ WordPress ที่ช่วยต่อยอดให้สามารถทำอะไรได้หลายๆ อย่าง เช่น ปลั๊กอินสไลเดอร์ ปลั๊กอินจัดหน้า ปลั๊กอินโซเชียลแชร์ เป็นต้น
จริงๆ WordPress มีปลั๊กอินฟรีๆ ให้เราเลือกใช้มากถึง 60,000 ตัว ที่เราใช้จริงๆ ประมาณ 10-50 ตัว โดยประมาณ แต่ละเว็บไซต์จะใช้ปลั๊กอินไม่เหมือนกัน แต่ก็ใช่ว่าเราจะติดตั้งปลั๊กอินอะไรก็ได้ อ่านต่อเกี่ยวกับ วิธีเลือก WordPress Plugin เกรด A
ปลั๊กอินของฟรีๆ มันก็ดีแล้วประมาณนึง แต่ก็มี Plugin Premium วางขายตามเว็บไซต์ต่างๆ จุดเด่นคือ มันจะมีฟีเจอร์หรือฟังก์ชันการใช้งานที่เจ๋งขึ้นไปอีก สามารถทำหรือตั้งค่าในสิ่งที่ปลั๊กอินฟรีไม่มีให้
ส่วนตัวผมเองก็มีซื้อปลั๊กอินพรีเมี่ยมอยู่บ่อยครั้ง เช่น Slider, Page Builder, SEO, Speed เพราะของมันต้องมี เลยต้องซื้อ
ซื้อ WordPress Theme Premium (0 – 3,500฿) *ไม่จำเป็น
Theme คือ ส่วนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของเว็บไซต์ และมีส่วนทำให้เว็บไซต์ดูดีหรือดูไม่ดี ซึ่งตัวฟรี มีประมาณ 9,121 ตัว สามารถเลือกใช้ตามความชอบ
แต่ส่วนตัวผมเองแทบไม่เคยใช้ธีมฟรีเลย เพราะมันไม่มีลูกเล่นอะไรเลย มีแค่โครงเฉยๆ ยิ่งถ้าเป็นมือใหม่ ผมว่าไปไม่ถูกแน่ๆ เวลามีคนมาปรึกษาว่า ใช้ธีมไหนดี ผมมักจะตอบง่ายๆ ว่า ซื้อเถอะ ไม่กี่บาท เพื่อแลกกับฟีเจอร์การปรับแต่งที่ครบถ้วน
Theme Premium ส่วนใหญ่แล้วจะมี Demo หรือตัวอย่างให้เราเลือกใช้ บางธีมมีหลายร้อยตัวอย่าง เราแค่ติดตั้ง และกด Import Demo และเราก็จะได้แบบที่ดูจากตัวอย่างจริงๆ มันจัด Layout ให้เราเรียบร้อย ไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูก
จ้าง Web Designer (1,500 – 3,500฿) *ถ้าอยากได้ดีไซน์สวย
สำหรับบริษัท หรือ องค์กรที่เน้นความสวยงาม ความน่าเชื่อถือของดีไซน์ อาจจะต้องจ้างคนมาช่วยออกแบบ UX/UI เพื่อให้เข้ากับอัตลักษณ์ของบริษัท ยิ่งบริษัทใหญ่ๆ ยิ่งซีเรียสมากเรื่องนี้
ค่าออกแบบ ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในการทำงาน และขึ้นอยู่กับว่าเราไปจ้างใคร
ถามว่า แค่ซื้อธีมสวยๆ มาติดตั้งไม่ได้หรอ? ได้ครับ แต่ส่วนใหญ่แล้วธีมที่ซื้อมา ดีไซน์สวย แต่ดูเป็นแนวฝรั่งมากเกินไป และมันดูแข็งๆ ไม่เหมือนกับการออกแบบขึ้นมาเอง
จ้างคนทำเว็บ WordPress (5,000 – 35,000 *ยืดหยุ่น) *ถ้าไม่อยากทำเอง
สำหรับคนที่อยากมีเว็บไซต์ WordPress แต่ติดที่ไม่มีเวลา แน่นอนว่าต้องคนมาช่วยทำให้ ซึ่งปกติแล้วค่าจ้างก็ไม่ได้แพงมาก เหมือนกับเว็บที่ต้องเขียนโค้ดขึ้นมาเอง แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่า คุณไปจ้างใครด้วย
อ่านบทความฉบับเต็ม ต้นทุนทำเว็บไซต์ WordPress
3. เช่า Domain และ พื้นที่ Hosting
3.1 จดชื่อ Domain Name
ชื่อเว็บไซต์ ก่อนที่จะจด คิดให้ดีก่อนว่าจะใช้ชื่ออะไรดี และจะเอา dot อะไรดีที่เข้ากับธุรกิจ ผมจะให้เทคนิคในการคิดชื่อประมาณนี้ครับ
- ยิ่งสั้นยิ่งดี
- อ่านและจำได้ง่าย
- มี Keyword ในโดเมน
- สื่อถึง Brand
- .com หรือ ถ้าเป็นบริษัท .co.th ถ้าไม่ว่าง ก็อาจจะจดเป็น .net, .biz, .in.th เป็นต้น
3.2 เช่าพื้นที่ Hosting
Hosting สำหรับผม คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดเรื่องนึง ต้องพิจารณาให้ดีๆ ถ้าเลือกผิด อาจจะต้องเสียเวลา เสียเงินจดที่ใหม่ซึ่งไม่คุ้มแน่นอน ยิ่งถ้าเป็น WordPress ก็ต้องหาตัวที่มันรองรับ WordPress แบบ 100% จะได้ไม่มีปัญหาภาหลัง
ส่วนแพคเกจราคา ก็เลือกตามขนาดการใช้งานจริงครับ ไม่ต้องเผื่อเยอะก็ได้ครับ เพราะมันสามารถอัพเกรดได้อยู่แล้วขณะใช้งาน
หลังจากที่จด Domain Name และเช่า Hosting จุดที่สำคัญที่ต้องไม่ลืมคือ การเชื่อม Name Server ถ้าไม่เชื่อม โดเมนจะไม่ทำงานเลย
Name Server เราจะได้ตอนเช่า Hosting เช็คได้จากอีเมล์การสั่งซื้อ หรือ เช็คในระบบ Hosting ก็มี ถ้าหาไม่เจอจริงๆ แนะนำให้ถามผู้ให้บริการโฮสติ้งที่เราเช่าเลยครับ
4. ติดตั้ง WordPress ง่ายๆ ผ่าน Control Panel
การติดตั้ง WordPress มีหลายวิธี ติดตั้งผ่าน FTP โดยการอัพโหลดไฟล์ด้วยตัวเอง วิธีนี้จะดูยุ่งยากไปหน่อย สำหรับมือใหม่ผมแนะนำติดตั้งผ่านพวกระบบ Control Panel ของโฮสติ้ง ซึ่งแต่ละที่จะให้ไม่เหมือนกัน แต่ปกติแล้ว โฮสติ้งจะติดตั้งระบบ Control Panel ดังนี้
- Direct Admin
- Plesk
- cPanel
ส่วนใหญ่โฮสติ้งไทยจะติดตั้ง Direct Admin มากที่สุด ตามมาด้วย Plesk
แต่หลักการใช้งานคล้ายกัน จุดที่ต้องเข้าไปตั้งค่าบ่อยสุดก็จะมีดังนี้
- Add Domain
- ติดตั้ง WordPress
- สร้าง Email
- ตั้งค่า Let’s Encrypt SSL
5. ตั้งค่าพื้นฐานที่จำเป็นหลังจากติดตั้ง WordPress
ถ้าติดตั้ง WordPress เสร็จสมบูรณ์ ก็คงจะได้เห็นหน้า Dashboard ของระบบหลังบ้าน และมันจะมีเมนูการตั้งค่าต่างๆ อยู่ด้านซ้ายมือ
ซึ่งการตั้งค่าพื้นฐานต่างๆ ที่ควรทำหลังจากที่ติดตั้งเสร็จแล้ว มีเยอะ แต่ผมสรุปให้แล้วเป็น 15 ตั้งค่าที่ผมคิดว่าใช้บ่อยที่สุด ตามบทความด้านล่าง
6. เลือก Theme WordPres สวยๆ
Theme หรือ ธีม ของ WordPress มีให้เลือกมากมาย แต่ส่วนใหญ่แล้ว ธีมฟรี จะมีฟีเจอร์ที่โล้นๆ ไปหน่อย ตั้งค่าได้ไม่เยอะเท่าไหร่ แต่ก็ใช้ได้ระดับนึง ถ้าไม่ได้ซีเรียสอะไรเรื่องดีไซน์และการปรับแต่ง

WordPress ยังมีแหล่งซื้อ-ขายธีม Premium ที่เป็นแหล่งรวมธีมสวยๆ จากทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วดีไซน์จะสวยมาก และมีฟังก์ชันการปรับแร่งที่ครบจริงๆ เรทราคาที่ผมเคยเจอ อยู่ระหว่าง 20$ – 100$ ที่ผมเคยซื้อ จะเจออยู่แถว 59$ ซะเยอะ
ถ้าเพื่อนๆ มีงบ ผมแนะนำให้ซื้อธีม Premium ครับ ข้อดีคือ
- Demo ตัวอย่างสวยๆ ที่ให้เรากด Import ใช้งานได้
- แถมปลั๊กอินพรีเมี่ยมมาด้วย
- ไม่ต้องปวดหัวกับการจัด Layout ด้วยตัวเอง ซึ่งเหนื่อย
- มี Support ให้เราถามตลอด 1 ปี
- ธีมที่ซื้ออย่างถูกต้อง ส่วนใหญ่ปลอดภัยจากไวรัส
7. ลงปลั๊กอิน WordPress พื้นฐานที่จำเป็น
เหมือนที่ผมกล่าวข้างต้น WordPress มีปลั๊กอินฟรีทั้งหมดเกือบ 6 หมื่นตัว แต่ที่ใช้จริงๆ มีไม่กี่ตัวเท่านั้น แล้วจะเลือกอย่างไร ต้องลงกี่ตัวถึงจะพอ และมีวิธีเลือกปลั๊กอินคุณภาพยังไงบ้าง
เวลาติดตั้งปลั๊กอิน อย่าติดตั้งสุ่มสี่สุ่มห้า เช่น ถ้าเลือกปลั๊กอินที่ไม่ได้อัพเดตมาหลายปี อาจจะทำให้เว็บไซต์มีช่องโหว่ โดนมัลแวร์ได้
ปลั๊กอินที่ผมแนะนำ เป็นปลั๊กอินที่ผมใช้บ่อยที่สุดละ และมั่นใจว่า เป็นตัวที่มีคุณภาพ น่าเชื่อถือได้
8. จัดหน้า จัด Layout ด้วย Page Builder
Page Builder คือ ปลั๊กอินจัดหน้า WordPress ตัวที่จะมาช่วยเราในการสร้างหน้า จัดวาง Layout สวยๆ ที่เราเห็นเว็บไซต์สวยๆ ส่วนหนึ่งมาจากความสามารถของ Plugin Page Builder ทั้งนั้น ไม่ใช่ธีม และ Page Builder แต่ละตัว ก็มีลูกเล่น การปรับแต่งที่ไม่เหมือนกัน
จริงๆ WordPress ก็มี Page Builder พื้นฐานที่ติดมาตอนติดตั้ง มีชื่อว่า Block Editor หรือ Gutenberg ซึ่งหลังๆ ผมก็ชอบใช้ตัวพื้นฐานนี้ เพราะมันง่ายดี มีลูกเล่นที่ไม่รกเกินไป แต่ความสวยงาม ยังสู้พวก Plugin Page Builder ตัว Premium
ปลั๊กอิน Page Builder ที่นิยมมีหลายตัว เช่น Elementor, Beaver, SiteOrigin, Visual Composer, Bizy
และยังมี Plugin Premium ที่มาเสริมการทำงานของ Block Editor พื้นฐาน ให้มีลูกเล่นที่เจ๋งขึ้น เทียบเท่ากับพวก Page Builder จ๋าๆ
9. ลงข้อมูล เขียน Content ให้เข้ากับธุรกิจ
การลงข้อมูลมี 2 ส่วนหลักๆ ที่เราต้องรู้จัก
- Post : สำหรับลงพวกข่าวสาร กิจกรรม หรือข้อมูลที่มีการอัพเดตบ่อยๆ
- Page : สำหรับหน้าที่มีข้อมูลค่อนข้างนิ่ง เช่น หน้าแรก, เกี่ยวกับเรา, บริการ, ติดต่อเรา
ผมได้เขียนคู่มือการใช้ WordPress พื้นฐานที่ละเอียดมากๆ เพื่อนๆ ลองไปอ่านดูได้เลยครับ
10. เชื่อม Google Search Console
หลังจากที่ทุกอย่างเรียบหมดแล้ว ก็พร้อมแล้วที่จะประกาศให้คนอื่นรู้ แต่ก่อนอื่นต้องไปแจ้งให้ Google ทราบก่อนนะ ว่าเว็บเราเสร็จแล้วนะ รู้ยัง ให้ Google มา Crawl เว็บไซต์ของเรา เพื่อจัดอันดับ
ต้องเชื่อมเว็บไซต์เรากับ คลิก Google Search Console แล้วไปสมัครให้เสร็จเรียบร้อย และหาปุ่มเพิ่มเว็บไซต์ครับ
[แทรกภาพ]
และเราต้องแทรก Sitemap เข้าไปด้วยครับ
ถ้าติดตั้งปลั๊กอินตามที่ผมแนะนำข้างบน จะมีตัวนึงที่ชื่อ Yoast SEO มันจะสร้าง Sitemap ให้เราอัตโนมัติ ลองเช็คจากลิงค์นี้ครับ https://santumweb.com/sitemap_index.xml *ชื่อเว็บไซต์/sitemap_index.xml
Google Search Console : เป็นศูนย์รวมข้อมูลของเว็บไซต์ มันจะรายงานยอดการคลิก สถิติต่างๆ อันดับของแต่ละ Keyword ปัญหาที่กระทบด้านความปลอดภัย และอันดับ SEO รวมถึบปัญหาเรื่องการใช้งานบนมือถือ
รวมๆ คือ Google Search Console จะรายงานข้อมูลเชิงเทคนิคมากกว่า แต่ถ้าต้องการสถิติที่ละเอียดวกว่านี้ สถิติยอดวิว หน้ายอดนิยม
11. ทำ SEO OnPage พื้นฐาน
SEO สรุปให้สั้นๆ คือ การปรับเว็บไซต์ของเรา ให้ติดหน้าแรกของ Google แต่ก่อนที่จะติดหน้าแรก มันจะมีปัจจัยหลายๆ อย่าง ที่อยู่ข้างหลัง ไม่ใช่ว่าทำเว็บเสร็จแล้วติดหน้าแรกเลย มันก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น
ในธุรกิจเเดียวกับเรา เฉพาะในประเทศ ก็มีคู่แข่งที่ทำเหมือนกับเรา ไม่รู้กี่พัน กี่หมื่นเว็บไซต์ ฉะนั้นหน้าที่ของ Google คือ การเลือกเว็บไซต์ที่ดีที่สุดมาอยู่หน้าแรก ถ้าเราอยากติดหน้าแรกด้วย ก็ต้องปรับแต่งให้ Google เข้าใจว่า เราทำอะไร ทำเพื่ออะไร ต้องการอะไร
ในการทำ SEO มีหลายเรื่องที่ต้องทำ แต่เรามาพูดถึงแค่เรื่องพื้นฐานก่อนเลย เพราะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเว็บไซต์
ผมอยากให้เพื่อนๆ เริ่มด้วยการปรับแต่ง SEO On-Page ของแต่ละหน้าหลัก หน้าสินค้า หน้าบทความ ยิ่งเราปรับให้ถูกต้องตามหลัก SEO ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสให้ติดหน้าแรกมากยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่ผมจะให้นึกถึงเสมอๆ คือ ตอบคำถามให้ได้ว่า กลุ่มเป้าหมายของเราต้องการอะไร เราก็ใส่สิ่งนั้นในเว็บไซต์
12. วิธีทำให้ WordPress โหลดเร็วขึ้น
เว็บไซต์จะโหลดเร็ว หรือ โหลดช้า ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย หลายสาเหตุด้วยกัน เช่น ใส่ภาพที่หนักมาก เลือกโฮสติ้งไม่ดี, ใส่ปลั๊กอินเยอะเกินไป เชื่อมสคริปต์เยอะมาก เลือกใช้ธีมที่อ้วนหนัก
ซึ่งแน่นอนว่า ทุกอย่างมันแก้ไขได้ครับ ไม่ได้ยากมาก แค่ทำตามคู่มือ
แนะนำให้ไปอ่านบทความที่ผมเคยเขียน ผมเล่าตั้งแต่ ทำไมความเร็วถึงสำคัญ สาเหตุที่ทำให้เว็บโหลดช้า เครื่องมือเช็คสปีด รวมถึง วิธีทำให้ WordPress โหลดเร็วขึ้น ลองตามไปอ่านกันได้ครับ
13. วิธีการดูแลเว็บไซต์ WordPress ให้ปลอดภัย
เว็บไซต์ก็เหมือนกับต้นไม้ สิ่งของทั่วไป ที่เราต้องดูแล ไม่ใช่ทำเว็บเสร็จแล้วปล่อยให้รกร้าง ถ้าแบบนี้ก็มีโอกาสโดนแฮกทุกเมื่อครับ
โดยปกติแล้ว WordPress จะมีออกเวอร์ชั่นใหม่ๆ เป็นระยะ รวมถึงพวก Plugin และ Theme ซึ่งแต่ละครั้งที่ออกเวอร์ชั่นใหม่ นอกจากอัพเดตเรื่องฟีเจอร์การใช้งานแล้ว ยังมีการอัพเดตเรื่องความปลอดภัยด้วย
ฉะนั้นถ้าเราปล่อย ไม่ได้อัพเดตมานาน ก็ไม่แปลกที่จะโดนแฮกได้ง่าย
จริงๆ ไม่ว่าเว็บไซต์พัฒนาด้วยเครื่องมืออะไรก็แล้วแต่ ก็มีสิทธิ์โดนทั้งนั้นครับ ถ้าเราดูแลไม่ดี ใช้โฮสติ้งไม่ดี หรือโหลดปลั๊กอินเถื่อนมาติดตั้ง
อยากให้ไปอ่านบทความ วิธีการดูแลเว็บไซต์ WordPress อย่างไรให้ปลอดภัย ผมได้สรุปไว้หมดแล้วครับ
ไม่อยากทำเอง แต่อยากจ้าง ต้องเตรียมยังไงบ้าง?
ข้อนี้ผมเล่าจากประสบการณ์ละกันครับ เพราะปกติแล้วผม รับงานทำเว็บไซต์ด้วย WordPress อยู่บ่อยๆ เลยพอมาแชร์ได้ครับ
- เราต้องรู้ก่อนว่า เราจะทำเว็บไซต์ประเภทไหน
- คิดชื่อเว็บไซต์ หรือ ชื่อโดเมน
- คิดไว้ล่วงหน้าว่า จะจดโดเมน, โฮสติ้ง ด้วยตัวเอง หรือ จะให้ผู้รับจ้างเป็นคนจัดการ
- แจ้งจำนวนหน้า, เมนู ที่ต้องการ
- ต้องการฟังก์ชันการทำงานพิเศษอะไรบ้าง เช่น ระบบคำนวณเฉพาะทาง, การเชื่อมต่อ API ต่างๆ
- งบประมาณที่ตั้งไว้ จะได้ไปหาว่า งบเท่านี้ควรจ้าง ฟรีแลนซ์ บริษัท หรือ เจนซี่
- Requirements อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องระบุให้ละเอียดยิ่งดี
- ข้อมูลที่จะลงในเว็บไซต์ในแต่ละหน้า แต่ละเมนู ก็ควรเตรียมไว้ล่วงหน้าครับ
- สุดท้าย ต้องสอบถามผู้รับจ้างด้วยว่า มีการดูแลหลังจบงานยังไงบ้าง
สรุป
อ่านจบบทความนี้ ผมเชื่อว่าเพื่อนๆ มือใหม่ที่กำลังศึกษาเรื่อง การสร้างเว็บไซต์ WordPress ด้วยตัวเอง น่าจะกระจ่างพอสมควร อย่างน้อยเข้าใจถึงลำดับขั้นตอนในการสร้างเว็บไซต์ WordPress 1 เว็บ ต้องผ่านอะไรกันบ้าง
หากชอบบทความแนวนี้ สาระแบบนี้ ฝากกดไลค์ กดแชร์ด้วยคร้าบบ