หลังจากติดตั้ง WordPress เสร็จเรียบร้อย ขั้นตอนถัดไปที่จำเป็นต้อง(รีบ)ทำ คือ “ตั้งค่า WordPress พื้นฐาน” ถ้าเป็นมือใหม่อาจจะยังไม่ได้ทำในบางข้อที่ผมกำลังจะพูดถึง ซึ่งการตั้งค่าที่ผมทำทุกครั้ง เมื่อติดตั้ง WordPress เสร็จ
ลองมาไล่เช็คด้วยกันว่า 15 ตั้งค่าพื้นฐานเหล่านี้ ได้ทำครบทุกข้อแล้วหรือยัง เหตุผลที่ต้องเช็คให้ครบ เช่น ถ้าเราใส่ E-Mail สมมติขึ้นมา ตอนติดตั้งครั้งแรก วันนึงถ้าเราลืมรหัสผ่าน เราจะกดรีเซ็ตรหัสผ่านไม่ได้แน่ๆ, อีกตัวอย่าง สมมติถ้ากด ปิดการมองเห็นของ Search Engine หมายความว่า Google Bot จะไม่เห็นเว็บเรา เว็บเราก็จะไม่ติด Google
นี่แหละครับ เหตุผลว่าทำไมการตั้งค่าพื้นฐาน ถึงสำคัญมากๆ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์เก่า หรือ เว็บไซต์ใหม่ ก็ควรไล่เช็คให้ครบทุกข้อครับ
1. ตั้งค่า Site Title & Tagline
Site Title และ Tagline คือ ชื่อเว็บไซต์ ตามด้วย สโลแกน ของเว็บไซต์ เป็นการตั้งค่าที่ทำให้ผู้ใช้ หรือ Search engine รู้ว่า เว็บไซต์เราคืออะไร เกี่ยวข้องกับเรื่องอะไร
ไปที่เมนู : Settings > General

- Site Title : ชื่อเว็บไซต์ ปกติแล้วมันจะแสดงที่แท็บคำอธิบายของเบราเซอร์ (Page Title) *ปกตินิยมใช้ชื่อ Domain ไปเลย เช่น tumweb
- Tagline : สโลแกน หรือ คำอธิบายเกี่ยวกับเว็บไซต์สั้นๆ ได้ใจความ
ถ้าติดตั้ง WordPress มาใหม่ๆ ตรง Tagline จะแสดงคำว่า “Just another WordPress site” หรือ “แค่เว็บเวิร์ดเพรสเว็บหนึ่ง” มันจะไปแสดงตรง Page Title เช่นเดียวกัน ถ้าเว็บไซต์ใช้งานไปแล้ว ยังมีคำพวกนี้ติดอยู่ มันทำให้เว็บไซต์ดูไม่ค่อยน่าเชื่อถือเท่าไหร่
2. อัพโหลด Favicon
Favicon คือ ไอคอนเล็กๆ ที่แสดงที่มุมแท็บของเบราเซอร์, Bookmark และตำแหน่งอื่นๆ ทำให้ดูมีความเป็นแบรนด์ มีตัวตนมากขึ้น และถ้ามองในแง่ประสบการณ์ของผู้ใช้งาน ทำให้ผู้ใช้จดจำเว็บไซต์เราได้ไวขึ้น

Favicon Size ที่เหมาะสมที่สุดคือ ขนาด 16 X 16 pixel หรือบางทีอาจจะแสดง 32 x 32 อย่าพยายามยัดรูปภาพใหญ่เกินจำเป็น บางคนเอา Logo เว็บนี่แหละไปใส่ดื้อๆ
Favicon ควรออกแบบขึ้นมาโดยเฉพาะ ด้วยความที่มันมีขนาดแค่ 16px ถ้าเอาภาพที่มีรายละเอียดเยอะ ส่องยังไงก็ไม่เห็นใช่ไหมครับ ไม่ควรเอา Logo มาใช้ตรงๆ
โดยปกติแล้ว มักจะใช้ icon มาทำเป็น favicon หรือ ไม่ก็เอาตัวอักษร 1 ตัว
สรุป Favicon
- ขนาด 16 x 16 หรือ 32 x 32
- ควรออกแบบด้วย icon หรือ ตัวอักษร 1-2 ตัว
- *ไม่ควรมีรายละเอียดเยอะ เพราะยังไงก็ไม่เห็นอยู่ดี
- ใช้สีให้ตรงกับแบรนด์ หรือ สีที่ค่อนข้างเด่นชัด
วิธีอัพโหลด Favicon ใน WordPress
ไปที่เมนู : Appearance > Customize > คลิกแท็บ “Site Identity”

3. ตั้งค่า Timezone, Date และ Time
การตั้งค่า Timezone, Date Format, Tieme Format จะมีผลทุกจุดที่เกี่ยวข้องกับวันที่และเวลา เช่น วันที่ลงบทความ อัพเดตบทความ การลบแก้ไขข้อมูลต่างๆ
ไปที่เมนู : Settings > General
- Timezone : เลือก UTC+7
- Date Format : เลือกรูปแบบวันที่ที่ต้องการ
- Time Format : เลือกรูปแบบเวลาที่ต้องการ

ถ้าต้องการให้วันที่เป็นภาษาไทย แค่เปลี่ยนภาษาของระบบหลังบ้านครับ
4. Site Address (URL)
Site Address (URL) คือ URL หลักของเว็บไซต์ ปกติระบบจะใส่มาอยู่แล้วตอนติดตั้ง จะเป็นชื่อเต็มๆ ของโดเมน เช่น https://santumweb.comm/ *ข้อควรระวังคือ อย่าไปแก้มั่วๆ ไม่งั้นเว็บไซต์จะล่มทันที
ปกติเราจะแตะตรงนี้บ่อยๆ ก็จะมีแค่ 2 กรณี คือ
- กรณีจะใช้ www : จาก https://santumweb.comm แก้เป็น https://www.tumweb.com
- กรณีจะแก้จาก http –> https *โฮสติ้งต้องรองรับ SSL ด้วยครับ
ไปที่เมนู Settings > General

ย้ำว่าให้ระวังมากๆ ครับ สำหรับมือใหม่
5. เพิ่ม Category และตั้งหมวดหมู่เริ่มต้น
หลังจากติดตั้ง WordPress ระบบจะสร้างหมวดหมู่ของ Posts ตั้งต้นให้เรา ชื่อว่า “Uncategorized – ไม่มีหมวดหมู่” ซึ่งหมวดหมู่ตั้งต้นนี้ เราลบไม่ได้ แนะนำให้แก้ไขชื่อและ url แทนครับ แก้ไขเป็นหมวดหมู่ที่ต้องการได้เลย

กรณีที่มีหลายหมวดหมู่ เรายังสามารถตั้งหมวดหมู่เริ่มต้นได้ (Default Post Category)

6. ลบข้อมูลตัวอย่าง
WordPress จะสร้างหน้าตัวอย่างให้เรา ใน Posts, Pages, Comments หลังจากที่ติดตั้งเสร็จ ไม่ต้องเก็บไว้ครับ ลบทิ้งได้เลย
ไปที่เมนู Posts > All Posts จะมีโพสตัวอย่างชื่อ “สวัสดีชาวโลก” แล้วคลิก “Trash”

ไปที่เมนู Pages > All Pages จะมีหน้าที่ชื่อ “หน้าตัวอย่าง” แล้วคลิก “Trash”

ไปที่เมนู Comments แล้วคลิก “Trash”

7. ตั้งค่าหน้าแรก หน้าบทความ
โดยปกติ WordPress จะดึงบทความล่าสุดมาแสดงหน้าแรก แต่ความเป็นจริง เวลาทำเว็บไซต์ เราควรดึงหน้าแรกที่เราสร้างขึ้นมาเอง หรือ ที่เรียกว่า “Static Pages”
การตั้งหน้าแรกขึ้นมาเอง ทำให้เราสามารถจัดหน้า จัด Layout ได้อย่างอิสระตามที่ต้องการ
วิธีเซ็ต “หน้าแรก” และหน้า “หน้ารวมบทความ”
Settings > Reading
ส่วนที่เป็น “Your homepage displays” จากเดิมเป็น Your latest posts ให้ติ๊กเป็น “A static page”
- Homepage : เลือกหน้า Page สำหรับที่จะทำหน้าแรกของเว็บไซต์
- Posts page : เลือกหน้า Page สำหรับหน้ารวมของบทความ

8. ตั้งค่าการมองเห็นของ Search Engine (SEO)
“Search engine visibility” เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดของการ ตั้งค่า WordPress พื้นฐาน ถ้าเราใช้ไม่ถูกต้อง ก็อาจจะทำให้เว็บไซต์ของเราทยอยหายไปจากกูเกิลแน่นอน
WordPress จะมีที่ตั้งค่าการมองเห็นของ Search Engine สามารถเปิดให้มองเห็น หรือ จะบล็อคไม่ให้ Search Engine จัดอันดับ
- ถ้าต้องการให้ Search Engine (Google) เก็บข้อมูลในเว็บไซต์เรา เพื่อไปจัดอันดับ ไม่ต้องติ๊ก
- ถ้าไม่ต้องการให้ Search Engine (Google) จัดอันดับ ติ๊ก

และสิ่งที่ขาดไม่ได้ ถ้าหากเราต้องการให้เว็บไซต์ติดอันดับไวขึ้น มียอดทราฟฟิคเข้ามา ผมแนะนำให้ติดตั้งอินปลั๊กอิน Yoast SEO ซึ่งเป็นปลั๊กอินที่มาช่วยให้การทำ SEO ของเราง่ายขึ้น เป็นขั้นตอนสำคัญของการทำ SEO บน WordPress
9. ตั้งค่าการ Comments
สามารถตั้งค่าเกี่ยวกับการ Comments ได้หลายอย่าง เช่น การอนุญาตให้คนอื่นมาแสดงความคิดเห็น, บังคับให้กรอก ชื่อ และอีเมล์, ความคิดเห็นต้องได้รับการอนุมัติจากแอดมิน เป็นต้น
ไปที่เมนู Settings > Discussion

10. ตั้งค่า Permalinks (ลิงค์ถาวร)
Permalink คือ ลิงค์ถาวร หรือ รูปแบบการแสดงผลของ URL จะมีหลายรูปแบบให้เลือก เช่น Plain, Day and name, Month and name, Numeric, Post name และ Custom Structure
Permalink เป็นอีกจุดนึงที่สำคัญใน WordPress ถ้าเราเลือกใช้แบบผิดๆ ถูกๆ อาจจะมีผลโดยตรงทั้งในแง่ของ User Experience และ SEO เช่นถ้าเราเลือกแบบ Plain : …./?p=123 ซึ่งเป็น URL แบบที่เราอ่านแล้วไม่เข้าใจ และ Google ไม่ชอบแน่ๆ ตามหลักแล้ว ควรเขียน URL ให้เข้าใจง่ายๆ
ไปที่เมนู Settings > Permalinks

เลือกรูปแบบ “Post name” เป็นรูปแบบที่น่าจะ Friendly ที่สุดแล้ว สั้น กระชับ
แต่ระวัง! อย่าแก้บ่อย เพราะถ้าเว็บไซต์ติด Google ไปแล้ว เรามาแก้ไขทีหลัง ทำให้ลิงค์เก่าที่ติดไปแล้วเสียหาย หาหน้าไม่เจอ
11. สร้าง Menu
โดยปกติแล้วถ้าเรายังไม่เคยสร้างเมนู ระบบจะดึงเอา Page ที่มีอยู่แล้วมาสร้างเป็นเมนูก่อน แต่ถ้าจะให้ดี ควรสร้างเมนูชุดใหม่ และเลือกเฉพาะหน้าที่เราต้องการ
ไปที่เมนู Appearance > Menus : ตรงกลางให้กรอก “Main Menu” แล้วคลิก Create Menu

ด้ายซ้ายมือ เราสามารถเลือกได้ว่า จะสร้าง Menu จาก Pages, Posts, Custom Links, Categories
- เลือก Page ด้านซ้ายมือที่ต้องการใส่ใน Menu ติ๊กเลือก แล้วกด Add to Menu
- เมนูที่เราเลือกตรงกลาง สามารถขยับซ้าย-ขวา บน-ล่าง เพื่อสลับตำแหน่ง
- Location ติ๊กตำแหน่งเมนูที่ต้องการแสดง ถ้าต้องการแสดงเหมือนกันหมด ก็ติ๊กทั้งสอง แล้ว Save Menu

12. อัพเดต Profile ให้สมบูรณ์
Profile ของแอดมินเว็บไซต์ ควรจะกรอกให้สมบูรณ์ครบถ้วน โดยไปที่ Users > Your Profile เราสามารถตั้งค่าค่อนข้างละเอียด เช่น สีระบบหลังบ้านของแอดมิน, ภาษา, ชื่อ-สกุล, อีเมล์, ลิงค์โซเชียล, เกริ่นนำเกี่ยวกับเรา, ภาพหน้าปก

โดยปกติแล้วจุดที่ควรทราบคือ
- Admin Color Scheme : สีระบบหลังบ้านของแอดมิน
- Toolbar : เป็นชุดเมนูการแก้ไข เวลาเปิดเปิดหน้าเว็บไซต์ กรณีที่เรา Login หลังบ้านอยู่
- First Name, Last Name : ชื่อ-สกุล
- Email : ควรเป็นอีเมล์ที่ใช้งานจริงๆ เพราะเวลาลืมรหัสผ่าน จะได้กดรีเซ็ตได้
- Biographical Info : อธิบายเกริ่นนำเกี่ยวกับเรา
- Profile Picture : เป็นภาพประจำตัว
13. ติดตั้ง Plugin พื้นฐานที่จำเป็น
ปลั๊กอิน WordPress เฉพาะตัวฟรี มีมากถึง 57,xxx ตัว ยังไม่รวมตัวเสียเงินซื้อ แต่ก็ใช่ว่าจะลงตัวไหนก็ได้ แต่หัวข้อนี้ผมจะแนะนำ 11 ปลั๊กอินพื้นฐานที่จำเป็น ส่วนใหญ่ทุกเว็บไซต์ควรติดตั้ง
- 1.ปลั๊กอินสร้างฟอร์ม : Contact Form7
- 2.ปลั๊กอินความปลอดภัย : All In One WP Security
- 3.ปลั๊กอินสำรอง/ย้ายเว็บ : All-in-One WP Migration
- 4.ปลั๊กอิน SEO : Yoast SEO
- 5.ปลั๊กอินจัดหน้า : Page Builder by SiteOrigin
- 6.ปลั๊กอินร้านค้า : Woocommerce
- 7.ปลั๊กอินคัดลอกหน้า : Duplicate Post
- 8.ปลั๊กอินทำให้เว็บโหลดไว : WP Fastest Cache
- 9.ปลั๊กอินแชร์ : Seed Social
- 10.ปลั๊กอินฟอนต์ : Seed Fonts
- 11.ปลั๊กอินสไลเดอร์ : Smart Slider 3
จริงๆ Plugin พื้นฐานที่จำเป็น ในแต่ละหมวดหมู่ มีตัวดีๆ หลายตัวที่ได้รับความนิยม ที่ผมแนะนำไป คือตัวที่ผมใช้บ่อยที่สุด ติดตั้งให้กับเว็บไซต์ลูกค้าบ่อยๆ แต่การติดตั้งปลั๊กอิน สิ่งที่ผมอยากแนะนำคือ อย่าติดตัวที่หยุดพัฒนานานเกิน 1 ปี หรือหาตัวที่มียอดติดตั้งหลักแสนเป็นต้นไป วิธีเลือก Plugin WordPress ที่มีคุณภาพ
14. ลง Theme ที่ต้องการ
WordPress มีธีมพื้นฐานติดตั้งมาให้ แต่เชื่อว่าส่วนใหญ่น่าจะไม่ชอบกัน เพราะดีไซน์ไม่สวย ฟังก์ชันไม่มาก ซึ่งวิธีหา Theme WordPress หลักๆ มีอยู่ 2 แหล่ง คือ ธีมฟรี กับ ธีม Premium
ธีม WordPress ฟรี
WordPress เป็น CMS ที่มีธีมฟรี ให้เราเลือกใช้เยอะมาก ประมาณ 3,9xx ธีม แต่ในจำนวนทั้งหมดนี้ใช่ว่าจะดีทั้งหมด มีทั้งธีมที่ดีและไม่ดีผสมกันไป แต่ที่ผมแนะนำ ให้เลือกตามธีมที่ยอดนิยม จะปลอดภัยที่สุด โหลดธีม WordPress ฟรี
ข้อเสียของธีมฟรี คือ มีฟังก์ชันลูกเล่นน้อยไปหน่อย และไม่มีตัวเลือก Demo ตัวอย่างให้เราเลือกใช้ และ Import Demo แบบง่ายๆ แต่ก็พอใช้ได้ครับ สำหรับการเริ่มต้นทำเว็บไซต์
ธีม WordPress Premium (เสียเงิน)
ธีม Premium เป็นธีมที่มีคนพัฒนาขึ้นมา และขายในเว็บไซต์แหล่งขายธีม จุดเด่นหลักของธีมพรีเมี่ยม มีฟังก์ชันแบบครอบจักรวาล สามารถปรับแต่งได้แบบขั้นสูง ละเอียดมากๆ ถ้าเป็นธีมดังๆ จะมี Demo ตัวอย่างหลักร้อยแบบ ให้เราเลือกแบบจุใจเลยทีเดียว
สามารถ Import Demo ในไม่กี่คลิก ก็ได้หน้าตามที่เหมือนตัวอย่างเปะ เราแค่แก้รูปและข้อความ ก็จะได้เว็บที่มีดีไซน์สวยงาม โดยไม่ต้องเสียเวลาไปจัด Layout ด้วยตัวเอง
15. ลบ Theme ที่ไม่ต้องการ
WordPress จะใส่ธีมพื้นฐานมาให้ 4 ตัว ซึ่งเชื่อว่าไม่ค่อยมีใครใช้แน่นอน รวมถึงผม แนะนำให้ลบธีมที่มากับ WordPress ไม่ต้องเก็บไว้ให้เปลืองพื้นที่ และเพื่อไม่ให้พวกไวรัสมาแทรกอยู่ในธีมที่เราไม่ได้ใช้ *ปกติผมจะลบ 3 ตัว ให้เหลือแค่ตัวที่ชื่อ “Twenty Twenty”

วิธีลบ คลิกที่ธีมที่ต้องการลบ แล้วคลิกที่ปุ่ม “Delete” ด้านล่างขวามือ
สรุป
15 ตั้งค่า WordPress พื้นฐาน ที่แนะนำไป เป็นการตั้งค่าพื้นฐานที่ผมเจอบ่อย และคิดว่าทุกเว็บไซต์ควรตั้งค่าให้ครบ เพื่อนๆ ไม่ว่าจะมือใหม่ หรือใช้ WordPress มาสักพักแล้ว ลองไล่เช็คดูว่า เผื่อมีตกหล่นบางข้อ เพื่อให้เว็บไซต์สมบูรณ์ที่สุด