WordPress core, Theme, Plugin จะมีเวอร์ชั่นใหม่ออกมาตลอด เพื่อความปลอดภัย เพิ่มลูกเล่นใหม่ๆ ที่น่าสนใจ หรือเพื่อให้ Performance ดีขึ้นกว่าเดิม แต่บ่อยครั้งมือใหม่มักจะกลัวที่จะกด อัพเดต WordPress เพราะกลัวทำพัง เดี๋ยวเว็บจะใช้งานไม่ได้ กระทบธุรกิจ
ผมเข้าใจความรู้สึกนี้ดีครับ บางคนถึงขั้นไม่เคยอัพเดตเลยสักครั้ง จากประสบการณ์ของผมเองที่ทำเว็บมาหลายร้อยเว็บไซต์ มีน้อยครั้งมากที่กดอัพเดตแล้วพัง แทบจะนับครั้งได้
ในบทความนี้ผมจะมาแนะนำ 5 สิ่งที่ต้องทำ ก่อนอัพเดต WordPress core, Theme, Plugin ถ้าไม่อยากเว็บพัง
ทำไมเราต้อง อัพเดต WordPress ตลอดเวลา?
เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ทำไมถึงต้องกดอัพเดต WordPress ตลอดเวลา ถ้าไม่อัพเดตได้ไหม มีผลตามมาอย่างไรบ้าง
โดยตัวระบบ WordPress เอง มันถูกเขียนให้ปลอดภัยอยู่แล้วแหละ ส่วนใหญ่เว็บไซต์ที่โดนแฮก มักจะมาจาก ไม่ได้อัพเดต WordPress Core, Plugin และ Theme มานาน หรือ โหลดปลั๊กอินหรือธีมเถื่อนมาใช้ ซึ่งถ้าจะโดนแฮกก็ไม่แปลก
WordPress มีทีมนักพัฒนา โปรแกรมเมอร์ นักทดสอบระบบจากทั่วทุกมุมโลก ที่ช่วยกันแก้ไขปัญหา(Fix bugs) พัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ ให้ทำงานได้ดีกว่าเดิม ใช้ง่ายกว่าเดิม มีความปลอดภัยดีกว่าเดิม ปิดช่องโหว่ต่างๆ เป็นประจำ
แน่นอนว่า เมื่อไหร่ที่มี Version ล่าสุดออกมา ให้เข้าใจเลยว่า มันมาพร้อมกับสิ่งที่ดีกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นลูกเล่นใหม่ๆ แก้ไขปัญหา ปิดช่องโหว่เกี่ยวกับความปลอดภัย
ฟีเจอร์ลูกเล่นใหม่ๆ WordPress แต่ละเวอร์ชั่น จะมีการเพิ่มฟีเจอร์ลูกเล่นใหม่ๆ ตลอดเวลา เพื่อให้ระบบใช้งานง่าย ทันสมัย และมีความสามารถเพิ่มขึ้น
ความปลอดภัย ระบบ WordPress บางทีอาจจะมีช่องโหว่ที่พึ่งตรวจเจอ หรือ มีคนพยายามที่จะแฮกทุกวันเพื่อพิสูทตัวเอง ทุกครั้งที่มีการอัพเดตเวอร์ชั่นใหม่ จะมีการปิดช่องโหว่ แก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัย ให้เจาะยากขึ้นกว่าเดิม
เพื่อให้รองรับกับเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างที่ทราบกันดีว่าเทคโนโลยีในปัจจุบัน มาไวไปไว ปลั๊กอินบางตัว จำเป็นต้องอัพเดต WordPress เป็นรุ่นล่าสุดเท่านั้นถึงจะใช้ได้ หรือ จำเป็นต้องอัพเดตเพื่อให้รองรับกับภาษา PHP version 8.x เป็นต้นไป
Speed WordPress แต่ละเวอร์ชั่นที่ออกมา นอกจากมีการพัฒนาฟีเจอร์ลูกเล่นใหม่ๆ ยังมีการปรับปรุงเรื่อง Speed การโหลดให้ไวขึ้นกว่าเดิม ดีกว่าเดิม เพื่อให้เข้ากับคนสมัยใหม่ที่รอช้าไม่ได้
แต่ช้าก่อน…
ก่อนที่จะกดอัพเดต WordPress เป็นเวอร์ชั่นล่าสุด ผมอยากจะแนะนำขั้นตอน ข้อควรระวัง ในฐานะที่ผมทำเว็บ WordPress ให้ลูกค้ามาหลายร้อยเว็บไซต์ พอจะแนะนำให้กับเพื่อนๆ ได้ครับ
5 สิ่งที่ต้องทำก่อนที่จะ อัพเดต WordPress
1. BackUP ก่อนทุกครั้ง
การ BackUP หรือ สำรองเว็บไซต์ เป็นสิ่งที่ควรทำทุกครั้ง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง ยิ่งเว็บไซต์ขนาดใหญ่ หรือ เว็บไซต์ที่มีข้อมูลที่สำคัญ ควรสำรองทั้งก่อน และหลัง การแก้ไขครั้งสำคัญ ต่อให้โฮสติ้งที่เราเช่าอยู่ มีการสำรองทุกวันอยู่แล้วก็ตาม
ปกติแล้วโฮสติ้งจะ BackUP ให้เราอัตโนมัติ 7 วันครั้ง บางที่ 1 วันครั้ง แต่จะมีการสำรองเป็นเวลาที่ชัดเจน ซึ่งถ้าเกิดว่าเว็บมีปัญหาต้องย้อนกลับไปหลายชั่วโมง แต่ระหว่างนั้น มีการอัพเดตข้อมูลเยอะ ก็คงจะเสียหายพอสมควร
ฉะนั้นควรกด BackUP WordPress ด้วยตัวเองก่อน-หลัง ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูล หรือ เมื่อมีการอัพเดตระบบ
2. เช็คสเปคของ Hosting
Hosting ก็เหมือนมือถือ เวลาจะอัพเดต Android หรือ iOS เป็นเวอร์ชั่นล่าสุด ต้องดูสเปคก่อนว่า รองรับไหม ถ้าไม่รองรับตัวล่าสุด ก็อัพเดตไม่ได้ โฮสติ้งก็เช่นเดียวกันครับ
ถ้า Hosting ที่เราใช้อยู่นั้น ใช้สเปคต่ำ เช่น ใช้ PHP เวอร์ชั่น 5.4 แต่ WordPress ตัวล่าสุดรองรับตั้งแต่ PHP เวอร์ชั่น 7.4 เป็นต้นไป ก็หมายความว่า เราจะอัพเดต WordPress เป็นเวอร์ชั่นล่าสุดไม่ได้นั้นเองครับ
*ถ้าลองกดอัพเดต ไม่ใช่ว่ากดไม่ได้ครับ กดอัพเดตได้นะ แต่มีฟังก์ชันบางอย่างไม่ทำงาน หรือ ปลั๊กอินบางตัวไม่รองรับ ทำให้เว็บไซต์ไม่สมบูรณ์
การเลือก Hosting ที่รองรับ WordPress ผมให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ เลยครับ เพราะถ้าเลือกผิด เช่าตัวที่ไม่ดี จะเปลี่ยนทีหลังลำบาก เสียเงินซ้ำซ้อน เหมือนติดกระดุมเม็ดแรกผิด ที่เหลือก็จะผิดตาม
ผมเลยตั้งใจเขียนบทความเกี่ยวกับ วิธีเลือก Hosting รู้ใจ WordPress มีการอธิบายค่อนข้างละเอียดยิบ และมีแนะนำโฮสติ้งที่ผมใช้อยู่และดีมาก มาบอกต่อ เพื่อนๆ ลองตามไปอ่านกันดูได้เลยครับ
3. อัพเดต Plugin และ Theme
Plugin และ Theme จะมีเวอร์ชั่นใหม่ๆ ออกมาตลอดเวลา แต่ละครั้งที่ออกมา จะมาพร้อมกับลูกเล่น ฟีเจอร์ใหม่ การแก้บัค และความปลอดภัย
ก่อนที่จะอัพเดต WordPress ผมแนะนำว่า ให้กดอัพเดต Plugin และ Theme ให้ครบทุกตัวก่อน และแนะนำให้ไปอ่าน Changelog ของแต่ละปลั๊กอินด้วยว่า รองรับ WordPress ตัวล่าสุดแล้วหรือยัง
4. อัพเดต WordPress
ถ้าทำตามข้อที่ 1-3 เรียบร้อยแล้ว ได้เวลากดอัพเดต WordPress สักที ซึ่งก็ต้องมาลุ้นมามันจะสมบูรณ์ 100% หรือไม่
จากประสบการณ์ที่ผมเคยอัพเดตมา แบบว่าออกปุป อัพเดตปัป ก็ไม่ค่อยเจอปัญหาเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ทำงานได้ปกติ อาจจะมีปัญหากับปลั๊กอินบางตัวเท่านั้น ที่ยังไม่ได้อัพเดตตาม
5. หากเว็บไซต์ขนาดใหญ่ ให้ทำบน Staging (ตัวทดสอบ)
หากเป็นเว็บไซต์เล็กๆ อัพเดตแล้วพังคงไม่มีปัญหาหรอก แต่พอเป็นเว็บไซต์สำคัญ หรือ เว็บไซต์ขนาดใหญ่ ที่เรียกว่าพังไม่ได้ จำเป็นต้องระวังเอามากๆ เพราะถ้าเว็บพังไป อาจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ขาดโอกาสในการทำกำไร
ถ้าเช่าโฮสติ้งที่ผมแนะนำด้านบน มันจะมีระบบทดสอบ หรือที่เรียกว่า Staging เอาไว้ทำเป็นตัวทดสอบการแก้ไขและอัพเดตต่างๆ โดยไม่ได้กระทบกับเว็บไซต์หลัก พอแก้เสร็จแล้ว ก็ค่อยซิงค์กับเว็บไซต์ปัจจุบัน ทำให้ลดความเสี่ยงได้
หลังจากอัพเดต WordPress ต้องทำอะไรบ้าง?
หลังจากที่กดอัพเดตทุกสิ่งทุกอย่างเรียบร้อย ขั้นตอนสุดท้าย คือ การตรวจเช็คความเรียบร้อย แต่ละหน้า แต่ละเมนู ส่วนต่างๆ ฟังก์ชันต่างๆ การเปิดในมือถือ ทุกอย่างยังคงปกติดีอยู่หรือเปล่า มีอะไรพังไหม หรือ มีอะไรที่ไม่ทำงานตามเดิม เพื่อให้แน่ใจว่าเว็บไซต์จะทำงานได้ 100%
แต่ถ้าเจอปัญหาบางอย่าง ให้ลองไล่เช็คทีละจุดว่า มันน่าจะมาจากอะไร ปลั๊กอินตัวไหนเป็นต้นเหตุ และลองปิดปลั๊กอินนั้นๆ แต่ละเว็บไซต์จะเจอปัญหาไม่เหมือนกัน ถ้าเจอหน้าเว็บพังๆ มีวิธีเดียวคือ ต้องไล่เช็คว่าสาเหตุมาจากตัวไหน
หรือว่าลองเช็ค 50 ปัญหาที่พบบ่อยใน wordPress แล้วลองแก้ไขดู
หากพยายามแก้แล้วไม่ได้สักที แนะนำให้ย้อนกลับไป WordPress เวอร์ชั่นก่อนหน้านี้ และรออีกสัก 1 เดือนค่อยอัพเดต รอให้ปลั๊กอินและธีม มันอัพเดตตัวเองให้เสร็จเรียบร้อยดีก่อน
กลัวอัพเดตแล้วทำพัง ต้องทำยังไง?
จริงๆ วิธีอัพเดทเว็บไซต์ WordPress ง่ายมาก แค่กดปุ่ม Update รอแปปก็ได้ละถูกไหมครับ แต่บางเว็บมันไม่ได้ราบรื่นขนาดนั้น ด้วยปัจจัยที่ไม่เหมือนกัน ผมเองก็ตอบไม่ได้ว่าท่านอัพเดตแล้วจะพังหรือไม่ แต่ละเว็บใช้ Plugin ต่างกัน โฮสติ้งต่างกัน Theme ต่างกัน
ถ้าเพื่อนๆ มีเว็บไซต์ที่ทำด้วย WordPress จะอัพเดตต่างๆ กลัวพัง ผมแนะนำให้หาคนดูแลครับ คนที่เชี่ยวชาญเรื่อง WordPress โดยตรง สบายใจกว่า ประหยัดเวลาลองผิดลองถูกได้เยอะ
หรือจะลองมาใช้บริการทางผมก็ได้ครับ ผมมีบริการรับทำเว็บไซต์ WordPress และรับแก้ไขปัญหาต่างๆ ลองสอบถามเข้ามาได้ครับ ยินดีให้คำปรึกษาฟรี
แต่ถ้าเพื่อนๆ เป็นเจ้าของเว็บเอง คอยอัพเดตข้อมูลเองอยู่แล้ว ผมแนะนำให้ฝึกลองเองดูครับ ไม่ได้ยาก แต่ก่อนอัพเดตอะไร อย่าลืมที่จะกด BackUP ก่อน พอพังแล้วเอากลับมาได้ง่ายๆ
สรุป
เมื่อไหร่ที่มี WordPress เวอร์ชั่นใหม่ออกมา ผมแนะนำให้ อัพเดต WordPress ทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัย ได้ใช้ฟีเจอร์ใหม่ๆ และเพื่อให้เว็บไซต์มีความสดใหม่ตลอด ตามทันเทคโนโลยี
แต่ก่อนที่จะกดอัพเดต WordPress ก็อย่าลืมทำตามที่ผมแนะนำ 5 ข้อ ด้านบน ซึ่งเป็นท่าพื้นฐานที่ผมใช้บ่อยๆ จนชิน ลองเพื่อนๆ ทำตามดูครับ
หากชอบบทความแนวนี้ สาระแบบนี้ ฝากกดไลค์ กดแชร์ด้วยคร้าบบ