WordPress เป็นเครื่องมือสร้างเว็บไซต์ที่ยอดฮิตที่สุด ซึ่งหลายท่านน่าจะรู้จักอยู่แล้ว แต่มีคำถามนึงครับ ที่เหล่ามือใหม่ หรือ คนที่สนใจทำเว็บไซต์ด้วย WordPress มักจะมีคำถามเหมือนๆ กันคือ WordPress.org กับ WordPress.com ต่างกันอย่างไร?
ในบทความนี้ ผมจะมาเจาะลึก เจาะประเด็นหลักๆ ข้อดี-ข้อเสีย ของแต่ละตัว ว่าแตกต่างกันในแง่ไหนบ้าง
จบบทความนี้ ผมมั่นใจว่า เพื่อนๆ พอจะสรุปได้ว่า เราควรใช้ .com หรือ .org เพราะผมเชื่อว่า โจทย์ของการทำเว็บไซต์แต่ละคนไม่เหมือนกัน และแต่ละเพลตฟอร์ม หรือ เครื่องมือการทำเว็บ มีจุดเด่นจุดเด่นต่างกัน เรามาดูกันว่ามันต่างกันอย่างไร
WordPress.org กับ WordPress.com คืออะไร
WordPress.org คืออะไร
WordPress.org คือ เครื่องมือสร้างเว็บไซต์แบบ Open-Source ฟรี 100% เราต้องไปดาว์นโหลดไฟล์มาติดตั้งด้วยตัวเอง เช่า Domain และ Hosting ด้วยตัวเอง โดยที่แก่นของ .org คือ “ความยืดหยุ่นในการปรับแต่ง เราเป็นเจ้าของเว็บไซต์” ทั้งหมด
ภาพรวมคือ สำหรับมือใหม่อาจจะต้องเรียนรู้กันเยอะหน่อย วิธีการจดโดเมน วิธีการเช่าโฮสติ้ง วิธีการติดตั้ง WordPress ด้วยตัวเอง ทุกอย่างเราต้อง Set-Up เองทั้งหมด
WordPress.com คืออะไร
WordPress.com คือ เครื่องมือสร้างเว็บไซต์ “สำเร็จรูป” มีทั้งแบบฟรี และเสียเงิน ทั้งแบบ .org และ .com ใช้พื้นฐานเหมือนๆ กัน มีระบบหลังบ้านคล้ายๆ กันเลย แต่จุดที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนคือ .com “ไม่ต้องจด Domain และ เช่า Hosting ด้วยตัวเอง ระบบเตรียมให้เราหมดแล้ว”
ภาพรวมคือ เราแค่สมัครสมาชิก ตั้งค่านิดหน่อย ใช้ได้เลย เหมือนๆ กับการสร้างเพจในเฟสบุ๊คเลยครับ ถ้าแบบฟรีรูปแบบ URL จะเป็นแบบนี้ “tumweb.wordpress.com” แต่เราสามารถจดเป็นชื่อ Domain ของเราเอง โดยการอัพเกรดสมาชิก
เปรียบเทียบ ข้อดี-ข้อเสีย
ข้อดี-ข้อเสียของ WordPress.org
ข้อดี : เป็นเครื่องมือทำเว็บไซต์ที่มีจุดเด่นในเรื่อง ความยืดหยุ่นในการปรับแต่ง เราสามารถปรับแต่งได้แทบทุกจุด เพราะมันเป็น Open-Source ฟรี 100% แต่ขึ้นอยู่กับสกิล หรือ ความสามารถของคนทำด้วยนะ
และอีกหนึ่งจุดเด่นของ .org คือ เราจะเป็นเจ้าของ 100% เราจะพัฒนาต่อยอดยังไงก็ได้ เพราะเป็นของเรา ข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์เป็นของเรา ไม่มีใครมีสิทธิ์ที่จะมาลบได้ ขอแค่เราต่ออายุค่าโฮสติ้งตลอดเวลา
ข้อเสีย : แน่นอนว่า ความยืดหยุ่นสูง มันมาพร้อมกับ ระยะเวลาในการเรียนรู้สูง ต้องติดตั้งเองทุกอย่าง การใช้งานขึ้นอยู่กับโจทย์ของการทำเว็บ ถ้าต้องการทำเว็บแบบง่ายๆ มันก็ง่ายครับ แต่ถ้าต้องการฟังก์ชันเฉพาะ ก็อาจจะต้องเขียนโค้ดเพิ่มเติม
ข้อดี-ข้อเสียของ WordPress.com
ข้อดี : เป็นเครื่องมือทำเว็บไซต์ที่มีจุดเด่นในเรื่อง ความง่ายในการเริ่มต้นและการใช้งาน ส่วนของระบบหลังบ้าน การแก้ไข แทบจะคล้ายๆ กับตัว .org เลยครับ แต่ขึ้นอยู่กับแพคเกจที่เราใช้ ว่าสามารถปรับได้แค่ไหน
เราสามารถเริ่มต้นได้ฟรี หมดกังวลในเรื่องการเช่าโฮสติ้ง การติดตั้งต่างๆ
ข้อเสีย : เราจะไม่ได้เป็นเจ้าของเว็บไซต์แบบ 100% เพราะว่าทั้ง Domain และ Hosting อยู่กับทางเจ้าของเครื่องมือทั้งหมด วันนึงหากเราไม่ได้ต่ออายุ หมายความว่า ข้อมูลของเราก็จะถูกลบไปทั้งหมด
เวอร์ชั่นฟรี ให้พื้นที่เก็บข้อมูลแค่ 3GB
ความเป็นเจ้าของ ( Domain & Hosting )
WordPress.org
WordPress.org เราจำเป็นต้องเช่า Domain และ WordPress Hosting ด้วยตัวเองทั้งหมด ทุกๆ ปี เราต้องต่ออายุด้วยตัวเองเช่นกัน หมายความว่า “เราเป็นเจ้าของ 100%” ไม่ได้ขึ้นอยู่กับใคร ข้อมูลทุกอย่างเป็นสิทธิ์ของเราทั้งหมด ไม่มีใครสามารถมาลบได้
เทียบง่ายๆ เราเป็นเจ้าของบ้านและที่ดิน เราจะพัฒนาต่อเติมยังไงก็ได้ใช่ไหมครับ
เว้นแต่ว่าเราไม่ได้ต่ออายุซะเอง
WordPress.com
WordPress.com เราไม่ต้องวุ่นวายไปหาที่จดโดเมนและโฮสติ้ง เราระบบเตรียมไว้หมดแล้ว โดยแบ่งเป็นแพคเกจ Free, Personal, Premium, Business และ eCommerce
Domain ในเวอร์ชั่นฟรี เราจะใช้โดเมนในรูปแบบ tumweb.wordpress.com (จะมี wordpress.com ตามหลังเสมอ) หากต้องการใช้ชื่อ Domain ของเราเอง จำเป็นต้องอัพเกรดแพคเกจเป็น Personal เป็นต้นไป
WordPress Hosting ให้พื้นที่เริ่มต้นที่ 3GB จนถึง 200GB ขึ้นอยู่กับแพคเกจที่เราเลือกใช้ อ่านรายละเอียดแพคเกจ
“เราเป็นเพียงผู้อาศัย” การที่จะปรับปรุง ปรับแต่ง ต้องขึ้นอยู่กับแพคเกจที่เราเลือก เช่น ถ้าเราอยากจะ Install Plugins, Thems ของเราเอง ต้องซื้อแพคเกจระดับ Business เป็นต้นไป
ถ้าวันนึงเราไม่ได้ต่ออายุ ข้อมูลทุกอย่างจะสูญหายทันที หมายความว่า เราไม่ได้เป็นเจ้าของข้อมูลแบบ 100% ครับ
Theme และการปรับแต่ง ตัวไหนง่ายกว่ากัน?
ทั้งคู่พัฒนาอยู่บนพื้นฐานเหมือนกันเลย การปรับแต่งจะคล้ายกัน ความยากง่ายก็ไม่ได้หนีกันมาก แต่ละตัวมันมีข้อจำกัดบางอย่างชัดเจน เรามาดูกันว่า แต่ละตัวมันแตกต่างในแง่ไหนบ้าง ตัวไหนใช้ง่ายกว่ากัน?
WordPress.com
WordPress.com มีระบบการปรับแต่งที่คล้ายกันเลย สามารถบริหารจัดการ Theme, Plugin จัดหน้า Layout ให้สวยงามด้วยตัวเอง แต่เราอยากปรับแต่งได้อิสระที่ว่า จำเป็นต้อง “ซื้อแพคเกจที่สูงขึ้นเท่านั้น”
แต่ละแพคเกจจะมีข้อจำกัด หรือ Limit เช่น แพคเกจฟรี คุณทำได้เพียงใช้ธีมธรรมดาๆ จะลงปลั๊กอิน หรือ ธีมเสริมไม่ได้เลย หากต้องการลง Plugin, Theme ได้อิสระ ต้องซื้อแพคเกจระดับ Business เป็นต้นไปเท่านั้น
WordPress.org
เครื่องมือสร้างเว็บไซต์แบบ Open-Source เราสามารถปรับแต่งได้อย่างอิสระ “ไม่มีข้อจำกัดอะไรเลย” เราจะลง Plugin หรือ Theme อะไรก็ได้ตามใจชอบเลย แต่…ความอิสระย่อมมาพร้อมกับพื้นฐานที่สูงขึ้น
การที่เราจะลง Plugin และ Theme แต่ละตัว เราต้องรู้และเข้าใจก่อนว่า มันทำงานยังไง สามารถปรับแต่งได้ในระดับไหน มีทั้งของฟรีและเสียเงิน
ถ้าเราเป็น Programmer สามารถเขียนปลั๊กอิน หรือ ธีม ของมาเองก็ได้เช่นกัน
สรุปว่าตัวไหนใช้ง่ายกว่ากัน?
มุมมองผม คิดว่า WordPress.org ชนะ ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่า บวกกับมีความยืดหยุ่นสูงมาก เราสามารถปรับแต่ง ต่อยอดได้ทุกรูปแบบ แต่ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของคนทำเช่นกัน
ถึงแม้ผมจะบอกว่า ช่วงเริ่มต้นจะยุ่งยากนิดนึง แต่สามารถเรียนรู้ได้ครับ ในส่วนของการจัดหน้าจัด Layout ก็จะมี ปลั๊กอินจัดหน้า หรือ Page builder ให้เราใช้ได้ง่ายๆ ต่อให้ไม่มีพื้นฐานมาก่อน
WordPress.org กับ WordPress.com ต้นทุนราคาทำเว็บ
เรามาเปรียบเทียบกันดูง่ายๆ ว่าตัวไหนถูกแพงกว่ากัน ในแง่ของ ต้นทุนราคาทำเว็บ ตั้งแต่ต้นจนเสร็จ และในระยะยาวแบบไหนคุ้มกว่ากัน
WordPress.com
WordPress.com มีแพคเกจราคาทำเว็บให้เราเลือก 5 แพคเกจด้วยกัน คือ Free, Personal, Premium, Business, eCommerce ราคาตั้งแต่ 0บาท – 1,500บาท ต่อปี
ดูตารางราคาได้ตามด้านล่างครับ
แพคเกจ | ราคา | พื้นที่ |
---|---|---|
Free | 0 บาท | 3GB |
Personal | 130 บาท | 6GB |
Premium | 279 บาท | 13GB |
Business | 833 บาท | 200GB |
eCommerce | 1,500 บาท | 200GB |
สรุปในภาพรวม
- ถ้าเราอยากได้ชื่อ Domain ที่เราตั้งเอง ต้องซื้อแพคเกจตั้งแต่ Personal เป็นต้นไป
- ถ้าอยากเลือกใช้ Premium Themes ไม่จำกัด ต้องซื้อแพคเกจตั้งแต่ Premium เป็นต้นไป
- ถ้าต้องการ ติดตั้ง Plugin, Theme ได้แบบอิสระ และใช้เครื่องมือทำ SEO ต้องซื้อแพคเกจตั้งแต่ Business เป็นต้นไป
- ถ้าต้องการสร้างเว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์ แบบมีฟีเจอร์ครบจัดเต็ม ต้องซื้อแพคเกจตั้งแต่ eCommerce เป็นต้นไป
WordPress.org
ถึงแม้ว่า WordPress.org เป็น Open-Source ให้เราโหลดใช้ได้ฟรีๆ แต่ก่อนที่จะติดตั้ง เราจำเป็นต้องมี Domain กับ WordPress Hosting ก่อน ถึงจะติดตั้งได้
ค่าใช้จ่ายในการทำเว็บไซต์ด้วย WordPress ประกอบด้วยหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น ชื่อโดเมน, WordPress Hosting, ปลั๊กอิน, ธีม, ค่าออกแบบดีไซน์, ค่าจ้างทำเว็บ
แต่ถ้าเพื่อนๆ ทำเว็บไซต์ด้วยตัวเอง อาจจะมีแค่ค่า โดเมนกับโฮสติ้ง
เรามาดูกันว่า ต้นทุนสร้างเว็บไซต์ด้วย WordPress.org มีอะไรบ้าง
ค่าอะไรบ้าง? | ราคาเท่าไหร่? | ราย |
---|---|---|
*WordPress Hosting | 500 – 3,500 | ปี |
*Domain Name | 100 – 1,000 | ปี |
Plugins Premium | 0 – 10,000 | ครั้ง |
Theme Premium | 0 – 3,500 | ครั้ง |
ค่าออกแบบ | 1,500 – 3,500 | ครั้ง |
WordPress Developer | 5,000 – 35,000 | ครั้ง |
ค่าใช้จ่ายหลักๆ ที่ต้องมีแน่ๆ คือ WordPress Hosting กับ Domain Name ประมาณ 1,000 – 5,000 บาท
วิธีการเช่า Domain และ WordPress Hosting ผมเขียนวิธีการแบบละเอียด WordPress Hosting โฮสติ้งที่รู้ใจ WordPress
ส่วนค่า Plugin, Theme, ค่าออกแบบ, ค่าจ้างทำเว็บ ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการไหม เช่น ค่าปลั๊กอิน ธีม ถ้าเราไม่ต้องการซื้อ ก็ตัดส่วนนี้ไป ค่าจ้างทำเว็บไซต์ ถ้าเราทำด้วยตัวเอง ก็ตัดส่วนนี้ไป
ผมเคยเขียนบทความเกี่ยวกับ ต้นทุนการทำเว็บไซต์ ฉบับละเอียดมากตามลิงค์ด้านล่างครับ
รูปภาพ กราฟเปรียบเทียบ ราคา ระหว่าง .org VS .com ในช่วงเวลา 10 ปี ว่าแบบไหนคุ้มค่ากว่ากัน

น่าจะตอบคำถามสำหรับคนที่กำลังสงสัยว่า WordPress ราคาเท่าไหร่? เลือกประเภทไหนดี แต่สำหรับคนที่ไม่อยากเสียค่าใช้จ่ายเยอะ อยากลงมือด้วยตัวเอง ผมได้เขียนบทความ สอนใช้งาน WordPress พื้นฐาน ไว้หมดแล้วครับ เพื่อนๆ ลองแวะไปอ่านได้เลยครับ
WordPress.com กับ WordPress.org ตัวไหนดีกว่าสำหรับ Ecommerce?
WordPress.org
WordPress.org ไม่ได้มีระบบที่รองรับ eCommerce ตั้งแต่แรก เราจำเป็นต้องติดตั้งปลั๊กอินชื่อ WooCommerce ซึ่งเป็นปลั๊กอินฟรี มาพร้อมกับฟังก์ชันพื้นฐานที่จำเป็น สำหรับร้านค้าออนไลน์
แต่ถ้าเราต้องการทำให้ร้านค้าออนไลน์ มีระบบที่ซับซ้อนมากขึ้น เราต้องหาปลั๊กอินมาเสริม เช่น ระบบสะสมแต้ม, ระบบเปลี่ยนสกุลเงิน, ระบบตัดบัตร เป็นต้น
ซึ่งเราจำเป็นต้องศึกษาพื้นฐานการใช้งาน ในระดับนึง ถึงจะทำร้านค้าออนไลน์ด้วย Woo สนุกมากขึ้น
WordPress.com
WordPress.com ต้องอัพเกรดเป็น แพคเกจ eCommerce เท่านั้น ถึงจะใช้งานฟังก์ชันร้านค้าออนไลน์แบบเต็มระบบได้
ซึ่งในแพคเกจนี้ทำให้เราสามารถ ลงสินค้าไม่จำกัด, รองรับระบบชำระเงินมากกว่า 60 ประเทศ, เชื่อมต่อกับระบบการขนส่ง, ฟังก์ชันการตลาดสำหรับร้านค้าออนไลน์, ระบบธีมโดยเฉพาะ
แต่…อย่าลืมนะครับว่า เราต้องจ่ายให้กับแพคเกจนี้ 1,500/เดือน หรือ 18,000/ปี
ต้องใช้คำว่า “แพงมาก” สำหรับร้านค้าขนาดเล็ก ต่อให้เราขายได้ หรือขายไม่ได้ เราก็ต้องจ่ายทุกปี ในราคาเท่าเดิม
แพคเกจ eCommerce เหมาะสำหรับร้านค้าขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ที่มียอดขายต่อเดือนสูง
ขั้นตอนทำเว็บด้วย WordPress.org
ขั้นตอนการทำเว็บไซต์ด้วย WordPress.org ผมได้สรุปเป็น 5 Step สั้นๆ เพื่อนๆ จะได้เห็นภาพรวมตั้งแต่ต้นจนออนไลน์ ว่าต้องทำอะไรกันบ้าง
- STEP 1 : จดชื่อ Domain และ เช่า Hosting
- STEP 2 : ติดตั้ง WordPress
- STEP 3 : รู้จัก Dashboard และเลือก Theme
- STEP 4 : ตั้งค่า WordPress
- STEP 5 : Go Live
ถ้าอยากรู้ว่าแต่ละขั้นตอน ต้องทำอะไรบ้าง ผมเขียนบทความอธิบายขั้นตอนอย่างละเอียด ตามลิงค์ด้านล่างครับ
ขั้นตอนทำเว็บด้วย WordPress.com
WordPress.com มีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยากมาก แทบจะเหมือนสมัครเฟสฯ เหมาะสำหรับคนที่มีพื้นฐานน้อย
- STEP 1 : สมัครสมาชิกใน WordPress.com
- STEP 2 : ตั้งชื่อเว็บไซต์ที่ต้องการ
- STEP 3 : เลือกแพคเกจที่ต้องการ
- STEP 4 : ที่เหลือก็จะเป็นการตั้งค่าการใช้งานต่างๆ
ของ .com จะเห็นได้ว่า เราไม่ต้องไปเช่าโดเมน และโฮสติ้งที่อื่นเลย ทุกอย่างรวมอยู่ในที่เดียวแล้ว เราแค่กดๆ ตั้งค่าๆ ตามที่ต้องการได้เลย
WordPress.com กับ WordPress.org เลือกตัวไหนดี?
ถ้าเพื่อนๆ ได้อ่านตั้งแต่ต้นจนถึงตอนนี้ น่าจะพอเห็นภาพและสรุปได้ว่า แต่ละตัวมันมีข้อดี-ข้อเสียที่ต่างกัน
ถ้าต้องการความยืดหยุ่นสูงในการปรับแต่ง ความอิสระ ความสามารถในการต่อยอดได้แบบไม่สิ้นสุด โดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม ความเป็นเจ้าของเว็บไซต์แบบ 100% ก็ต้องเทไปที่ WordPress.org
แต่ถ้าเป็นมือใหม่มากๆ ไม่ต้องการความยุ่งยากในการติดตั้ง เช่าโดเมนและโฮสติ้งด้วยตัวเอง ก็ต้องไปที่ WordPress.com
ส่วนตัวผมอยากให้มองในระยะยาวมากกว่าครับ
ถ้าไปจ้างคนมาทำให้ ผมอยากจะแนะนำให้ใช้ .org มากกว่าครับ เพราะเราเป็นเจ้าของ 100% ในระยะยาวอาจจะประหยัดกว่า และระบบหลังบ้านเหมือนกันเลยครับ
แต่ถ้าทำด้วยตัวเอง ก็ต้องดูว่า มีพื้นฐานมากน้อยแค่ไหน ถ้าพื้นฐานเรื่องเว็บน้อยมากๆ ก็ต้องไปที่ .com แต่ถ้าอดทนฝึกนิดหน่อย ผมค่อนข้างเชียร์ .org ครับ
สรุป
จบบทความนี้ เพื่อนๆ คงจะพอสรุปได้ว่าระหว่าง WordPress.org กับ WordPress.com ต่างกันอย่างไร เลือกตัวไหนดี เพราะแต่ละตัวก็มี ข้อดี-เสีย ที่ต่างกัน บางทีอาจจะขึ้นอยู่กับโจทย์ของการทำเว็บไซต์ พื้นฐานของคนทำเว็บ
ถ้ากำลังฝึกฝนทำเว็บไซต์ด้วยตัวเอง ผมเชียร์ให้ใช้ .org ครับ เพราะทุกอย่างต้องตั้งค่าด้วยตัวเอง จะช่วยฝึกให้เราเข้าใจระบบเว็บไซต์มากขึ้น