WordPress คืออะไร?
WordPress คือ เครื่องมือสำหรับสร้างเว็บไซต์ยอดนิยม “Contents Management System หรือ CMS” ที่มีระบบหลังบ้านให้เราใช้งานได้ง่ายๆ ไม่ต้องเขียนโค้ดจากศูนย์ ซึ่งเป็นโอเพนซอร์ซให้เรานำไปใช้สร้างเว็บได้ฟรี ตอนนี้ WordPress ถูกใช้สร้างเว็บไซต์ทั่วโลก มากกว่า 35.8% ของเว็บไซต์ทั้งหมด นั่นหมายความว่า 1 ใน 3 ของเว็บไซต์ ถูกพัฒนาขึ้นมาด้วย WordPress
หลายๆ คนอาจจะจดจำ WordPress เป็นระบบสำหรับเขียน Blog แต่มันคืออดีตไปแล้วครับ
ปัจจุบัน เราสามารถพัฒนาเว็บไซต์ได้ไม่จำกัดรูปแบบ ด้วยดีไซน์ที่สวยงาม ฟีเจอร์พื้นฐานครบ มีอิสระในการปรับแต่งตามต้องการ จัดหน้า WordPress ด้วยปลั๊กอิน Page Builder ผมเลยนิยาม WordPress ว่า เป็นระบบกึ่งสำเร็จรูป คือ มีธีมสำเร็จให้เราใช้ฟรี และสามารถพัฒนาเขียนโค้ดต่อยอดได้อิสระเช่นกัน
ส่วนประกอบหลักของ WordPress
WordPress เป็น CMS ที่ยืดหยุ่นที่สุดแล้วก็ว่าได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นโปรแกรมเมอร์ หรือไม่ใช่ ก็สามารถปรับแต่ง ใช้งานระบบหลังบ้านของ WordPress ได้ง่าย ปรับแต่งได้อิสระมากขึ้น ด้วยระบบ Plugins และ Themes
Plugins

เป็นส่วนเสริมที่จะช่วยแปลงร่างจาก เว็บไซต์ WordPress ธรรมดาๆ กลายเป็นเว็บไซต์ที่มีความสามารถเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ปลั๊กอินพื้นฐาน อย่างระบบจัดหน้า Layout จนถึงสร้างร้านค้าออนไลน์
ปลั๊กอินมีทั้งแบบฟรีและแบบเสียเงิน ขึ้นอยู่กับการใช้งานของเรา ถ้าหากทำเว็บไซต์ธรรมดาๆ ปลั๊กอินแบบฟรี ก็พอแล้วครับ ยกเว้นว่า เราต้องการฟีเจอร์ หรือ ลูกค้าแบบระดับเทพๆ ก็สามารถซื้อปลั๊กอินเพิ่มเติมได้
ตัวอย่างปลั๊กอินพื้นฐานที่ทุกเว็บไซต์ควรติดไว้ เช่น สร้าง Slider, จัดหน้า Layout, แชร์ Social, สร้างร้านค้าออนไลน์, ทำ SEO, เก็บสถิติการเข้าชม, ความปลอดภัย, และปลั๊กอินสำรองเว็บไซต์
Plugin ฟรี : WordPress มีปลั๊กอินให้เราใช้งานได้ฟรี มากถึง 55,773 plugins สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย บ่งบอกว่า มีนักพัฒนากำลังอัพเดตตลอดเวลา ทันเทคโนโลยีล่าสุด สามารถดาว์นโหลดปลั๊กอินล่าสุดได้ที่ codecanyon.net เป็นเว็บไซต์แหล่งซื้อ-ขายปลั๊กอินที่น่าเชื่อถือ ในวงการเค้ารู้กัน
Themes

ภายใต้เว็บไซต์สวยๆ ที่เราเห็น เราเรียกว่าธีม หรือ Theme ซึ่งเป็นระบบการจัดการ Layout และโครงสร้างเว็บไซต์ที่ถูกแสดงบนเบราเซอร์ เว็บไซต์จะสวยไม่สวย ดีไม่ดี ส่วนหนึ่งที่ชัดเจนที่สุดคือ การเลือกธีม หากเราติดตั้งธีมสวยงาม เว็บไซต์ก็จะงามตามไปด้วย แต่ละธีม มีฟังก์ชันการตั้งค่าไม่เหมือนกัน แต่อยู่บนพื้นฐานเดียวกัน
WordPress มีธีมฟรีให้เราเลือกมากถึง 3,961 ตัว เลือกตามรูปแบบเว็บที่ต้องการได้เลย แนะนำให้เลือกตาม Popular เนื่องจากมันมีผลด้านการใช้งาน และ ความปลอดภัย สามารถดาว์นโหลดธีมฟรีได้ที่ themes (opens in a new tab)”>wordpress.org > themes
Theme ก็มีตลาดซื้อขายธีมเช่นเดียวกับปลั๊กอิน เว็บไซต์ที่ยอดนิยม คือ themeforest.net ส่วนใหญ่ราคาจะอยู่ราวๆ 29 – 69$ ขึ้นอยู่กับฟีเจอร์ที่ให้มา แต่แนะนำให้เลือกจาก ยอดสั่งซ์้อเยอะสุดลงมา รีวิว 4.5 ดาวขึ้นไป การอัพเดตลา่สุด ไม่ควรเกิน 1 ปี การซัพพอร์ต และคู่มือการใช้งาน
ทุกครั้งที่โหลดธีมมาใช้งาน ให้อ่านคู่มือการใช้งาน การตั้งค่าธีมทุกครั้ง เนื่องจากแต่ละธีมมีวิธีการใช้งานไม่เหมือนกันเลย
ความแตกต่างระหว่าง ธีมฟรี กับ ธีมเสียงตังค์ คือ ฟังก์ชันการใช้งาน ถ้าแบบฟรี ทุกอย่างแทบจะต้องงมหาเอง แต่แบบเสียตังค์ จะมีฟังก์ชันง่ายๆ ให้เราใช้ได้เลย เรียกว่ามีลูกเล่นครอบจักรวาล
ตัวเลขน่ารู้ การเดินทางของ WordPress กว่าจะมีวันนี้
- การเดินทางของ WordPress เริ่มต้นเมื่อปี 2003 โดย Matt Mullenweg
- ปี 2004 เวอร์ชั่น 1.2 และระบบ Plugin ได้ถือกำเนิดขึ้นมา ให้นักพัฒนาได้ต่อยอดฟีเจอร์ได้อิสระ
- ปี 2005 เวอร์ชั่น 1.5 ระบบ Theme system และ Pages ถูกเปิดตัว ในปีเดียวกันนี้ ได้เปิดตัวเวอร์ชั่น 2.0 ซึ่งมีฟีเจอร์ใหม่ เช่น ระบบแบ่งสิทธิ์ผู้ใช้, ยกเครื่อง UI ของ Dashboard หลังบ้านใหม่ ให้สวยขึ้น(ในสมัยนั้น) และ WYSIWYG editor ช่วยให้การเขียนโพสง่ายขึ้น
- ปี 2007 เวอร์ชั่น 2.1, 2.2, 2.3 มีการปรับปรุง UI ใหม่ ปรุงระบบ Core หลังบ้าน เพิ่มระบบ Widget, Mail ปรับปรุงเรื่อง URLs และ taxonomy system.
- ปี 2008 เวอร์ชั่น 2.5, 2.6, 2.7 ได้ร่วมงานกับบริษัท Happy Cog มาช่วยรีดีไซน์ admin UI ใหม่ และยังมีฟีเจอร์ใหม่อย่าง shortcodes, one-click updates
- ปี 2009 เวอร์ชั่น 2.8, 2.9 ได้รับรางวัล Winner of Open Source CMS Awards’s ยังคงเดินหน้าปรับปรุง Core WordPress อย่างต่อเนื่อง
- ปี 2010 ในที่สุดก็เดินทางมาถึงเวอร์ชั่น 3.0 ส่วนใหญ่เป็นการอัพเดตตัว Core เช่น Post Types, Taxonomies, Header, Menus etc. และ ธีม Twenty Ten ได้ถือกำเนิดขึ้นมาซะที
- ปี 2011 ได้รับรางวัล Winner of Infoworld’s “Bossie award for Best Open Source Software.” เปิดตัว Post Formats และ Admin bar
- ปี 2012 เปิดตัวระบบ Theme Customizer, Theme Previews, Media Manager
- ปี 2013 เวอร์ชั่น 3.7 มาพร้อมกับระบบ Automatic updates และเปลี่ยนธีมหลังบ้านให้ใช้งานง่ายขึ้น และรองรับมือถือ
- ปี 2014 ได้มีการปรับปรุงในส่วนระบบ Media สามารถ Drag and Drop ได้แล้ว มีระบบ Grid view เพิ่มเข้ามา และได้ปรับปรุงส่วนอื่นๆ
- ปี 2015 เวอร์ชั่น 4.2 ได้รับรางวัล Winner of CMS Critic Award’s “Best CMS for Personal Websites.”
- ปี 2016 เวอร์ชั่น 4.5, 4.6, 4.7 มีการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ และพัฒนาฟีเจอร์เดิมให้ดีขึ้น
- ปี 2017 เพิ่มวิตเจ็ต (image, video, audio and rich text)
- ปี 2018 WordPress 5.0 เปิดตัว Block editor แต่ยังคงรองรับ Classic editor ของเดิม และรองรับ 37 ภาษา
- ปี 2020 WordPress ได้พัฒานามาถึงเวอร์ชั่น 5.4
ตั้งแต่เปิดตัวปี 2003 – 2020 เราได้เห็น WordPress ได้มีการอัพเดต พัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ ตลอดเวลา เพื่อให้ทันต่อเทคโนโลยีล่าสุด และพยายามพัฒนาให้ใช้งานง่ายที่สุด สำหรับคนที่ไม่มีความรู้ด้านเขียนเว็บ
WordPress.org กับ WordPress.com ต่างกันอย่างไร?
WordPress.org เป็นตัวที่ให้เราโหลดใช้งานได้ฟรี แต่ก็ต้องจดชื่อโดเมน และ เช่าโฮสติ้งเองทุกอย่าง มีความยืดหยุ่นสูงมาก สามารถปรับแต่ง พัฒนาต่อยอดได้ทุกรูปแบบตามที่ต้องการ สำหรับมือใหม่ อาจจะต้องศึกษาหลายๆ เรื่องตอนเริ่มต้น Download
ผมขอนิยาม WordPress คือ เว็บไซต์กึ่งสำเร็จรูป
ข้อดีของ WordPress.org
- เราเป็นเจ้าของเว็บไซต์ 100% เพราะเราจด โดเมน และ โฮสติ้งด้วยตัวเอง เหมือนเราเป็นเจ้าของบ้าน
- มี Plugin และ Theme ให้เลือกได้อิสระ ทั้งแบบฟรีและเสียตังค์
- สามารถปรับแต่ง พัฒนาต่อยอด ได้ทุกรูปแบบตามที่ต้องการได้เลย
- ฟรีตลอดการใช้งาน
- ถ้าเป็นโปรแกรมเมอร์ ต้องการแก้ไข Code สดๆ ก็สามารถเข้าผ่าน FTP Hosting ได้
WordPress.com เจ้าของเดียวกับ .org แต่ .com ให้บริการเพลตฟอร์มสร้างบล็อก สร้างเว็บไซต์ โดยมีพื้นฐานเหมือนกัน เช่น มีระบบ Plugins และ Theme สามารถเริ่มต้นทำเว็บได้ฟรี แบบฟรีจะมีโดเมน .wordpress.com พ่วงท้ายมาด้วย มาพร้อมกับฟังก์ชันพื้นฐานจริงๆ
หากต้องการใช้ชื่อเว็บของตัวเอง และปรับแต่งได้มากขึ้น จำเป็นต้องซื้อแพคเกจ เริ่มต้น 130 บาท/เดือน จนถึง 1,500 บาท/เดือน ไม่จำเป็นต้องไปจดโดเมนและโฮสติ้งแยกต่างหาก เรียกว่าเป็นระบบ All-in-one สมัคร WordPress.com
ข้อดีของ WordPress.com
- เริ่มต้นได้ฟรี แต่จะจำกัดการใช้งาน
- สมัครใช้งานได้ง่าย ไม่ต้องรู้เทคนิคเว็บไซต์ ก็ทำได้ด้วยตัวเองง่ายๆ
- ไม่ต้องกังวลเรื่องปัญหาเว็บโดน Hack เพราะเค้าจะดูแลให้เราทั้งหมด
เลือก .org หรือ .com ดี?
ถ้าต้องการทำเว็บไซต์ง่ายๆ ไว้เขียนบล็อค ทำเว็บไซต์ธรรมดาๆ เน้นใช้งาน ไม่ต้องลงลึกมาก ก็ให้มาทาง .com
แต่ถ้าต้องการ การปรับแต่งที่ซับซ้อนขึ้น อิสระมากขึ้น เน้นการเป็นเจ้าของเว็บไซต์ 100% ก็ให้มาทาง .org แต่คุณต้องมีความรู้พื้นฐาน เรื่อง โดเมน โฮสติ้ง และ WordPress ระดับนึง ถ้าไปไม่เป็น ก็จ้างเถอะครับ ^ _ ^
WordPress สามารถทำเว็บไซต์อะไรได้บ้าง?

ขอตอบสั้นๆ ว่า ทำเว็บได้ทุกรูปแบบ
สามารถทำเว็บไซต์ได้ทุกรูปแบบ ตั้งแต่เว็บไซต์ขนาดเล็ก จนถึงเว็บไซต์ขนาดใหญ่ ถึงใหญ่มาก ก็ยังทำได้ ขึ้นอยู่กับความสามารถของเรา หากต้องการเว็บไซต์บริษัทธรรมดา ก็แค่ติดตั้งธีม แล้วแก้ไขข้อมูลจบ แต่ถ้าอยากได้ระบบที่ซับซ้อนขึ้น ที่มีฟังก์ชันเฉพาะด้าน ก็ต้องรู้การเขียนโปรแกรม การใช้ WordPress API
ตอนนี้ ถ้าใครจะเริ่มทำเว็บไซต์ด้วยตัวเอง หรือทำเว็บแบบใช้งบไม่เยอะ ส่วนใหญ่จะมาทาง WordPress ทั้งนั้น ด้วยความที่ใช้งานง่าย ใช้งบไม่เยอะ และได้เว็บสวยมากด้วย (หากซื้อธีมสวยๆ และปรับแต่งได้เก่ง)
เว็บไซต์บริษัท, เว็บข่าว, เว็บแนะนำตัว, เว็บบล็อคทั่วไป, เว็บร้านค้าออนไลน์ หรือ e-commerce, เว็บบอร์ด ฟอรั่ม, เว็บหน่วยงานองค์กร ฯลฯ ทำได้ทุกรูปแบบ ครบจบในตัวเดียว
และจุดเด่นของ WordPress อีกอย่างนึงคือ รองรับ SEO ได้ดีเยี่ยม แต่ต้องลงปลั๊กอินชื่อ Yoast SEO หรือ ตัวอื่นก็ได้ มันช่วยให้เว็บไซต์เรามี Ranking ที่ดีขึ้นบน Google
ธีมส่วนใหญ่ในตอนนี้ มาพร้อมกับการรองรับ Responsive หมดแล้ว หรือรองรับมือถือนั่นเองครับ ช่วยให้เว็บดูทันสมัยขึ้น
อยากทำเว็บด้วย WordPress ไม่รู้จะเริ่มยังไง?
STEP 1 : จดชื่อ Domain (ชื่อเว็บไซต์) และ เช่าพื้นที่ Hosting
อันดับแรกต้องคิดชื่อเว็บไซต์ให้ได้ก่อนครับ ถ้านึกชื่อไม่ออก ก็ลองตั้งชื่อให้ตรงกับธุรกิจ หรือแบรนด์ก็ได้ครับ และ ต้องหาที่เช่า Hosting เอาไว้ติดตั้งไฟล์ WordPress ซึ่งสองอย่างนี้ จะจดที่เดียว หรือ คนละที่ก็ได้ครับ ขอแค่ต้องเชื่อม Name Server ให้ถูกต้องก็พอ สามารถสอบถามที่เจ้าที่จดได้ครับ ว่าเชื่อมอย่างไร
STEP 2 : ติดตั้ง WordPress
สามารถไปดาว์นโหลดไฟล์ที่ WordPress.org แล้วอัพไปที่ Hosting ผ่าน FTP หรือ สามารถใช้ระบบ Control Panel ของโฮสติ้ง ติดตั้งแบบง่ายๆ ได้เลยครับ ส่วนใหญ่ทุกโฮสติ้ง มีฟังก์ชันให้เราสามารถลง WordPress ได้ง่ายๆ
STEP 3 : เลือก Theme
ธีม มีทั้งแบบ Free และ Paid เสียเงิน ถ้าไม่ซีเรียสเรื่องดีไซน์และงบน้อยๆ ใช้ธีมฟรีก็พอแล้วครับ สวยๆ ก็มีเยอะ ถ้าต้องการสวยหรู ตามใจต้องการจริงๆ แนะนำให้ซื้อธีม Premium หรือ Pro ครับ สวย ปรับแต่งได้ง่าย เลือกดีไซน์ได้จาก Demo ของธีม แนะนำให้เลือกธีมที่ขายดี รีวิวงามๆ ที่เว็บไซต์ Themeforest.net
และอีกข้อดีของ Theme Premium คือ มันมีระบบลงตัวอย่าง Demo ให้เรา ติดตั้งแบบคลิกเดียวผ่านระบบ One Click Installation
STEP 4 : ตั้งค่า WordPress
ได้ธีมที่ชอบมาแล้ว ถัดมาก็จะเป็นในส่วนการตั้งค่าพื้นฐานทั่วไปครับ และปรับแต่งหน้าเว็บ แก้ไขข้อมูล
STEP 5 : Go Live
ได้เวลาเปิดตัวเว็บไซต์อย่างเป็นอย่างการ และอย่าลืมขั้นตอนสุดท้ายที่สำคัญที่สุด หากไม่ทำข้อนี้ เว็บไซต์ที่เราทำมา จะไม่มีคนเห็นเลย คือ การ อัพเว็บไซต์ขึ้นสู่ Google Search Console เป็นเครื่องมือของ Google ที่ช่วยวิเคราะห์เว็บไซต์ของเรา ให้เว็บไซต์ปรากฏในการค้นหาบน Google รวมถึงช่วยรายงานปัญหาให้เราด้วยนะ
ข้อดี-ข้อเสีย ของ WordPress
- ได้เว็บไซต์สวย ในงบที่ประหยัด
- มี Theme และ Plugin ให้เราเลือกมหาศาล
- มีการพัฒนาเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ ตลอดเวลา ตั้งแต่ปี 2003 – ปัจจุบัน (ไม่ทิ้งเราแน่ๆ)
- ดูแลและอัพเดตได้ง่าย ไม่ว่าจะอัพเดต WordPress, Plugin และ Theme
- เป็นมิตรกับ Search Engine หรือ SEO
- ระบบหลังบ้านใช้งานง่ายสำหรับคนทั่วไป
- ยืดหยุ่น ปรับแต่งได้ตามใจชอบ
- หากมีคำถาม หรือ ติดปัญหา มี Community ที่ใช้ WordPress ทั่วโลกพร้อมตอบให้เรา ในไทยก็เยอะมาก
- ทำเว็บไซต์ได้ทุกรูปแบบ
สรุป
หวังว่าบทความนี้น่าจะตอบโจทย์ สำหรับคนที่กำลังสงสัยว่า WordPress คืออะไร ทำงานอย่างไร ทำเว็บไซต์อะไรได้บ้าง
ส่วนตัวผมขอเชียร์ให้ใช้ WordPress มากๆ ครับ ด้วยข้อดีหลายอย่าง ไม่ว่าจะใช้งบน้อย ประหยัดเวลาทำเว็บ จะทำเองก็ดี จะจ้างก็ไม่แพง เว็บไซต์ที่ได้ จะสวยหรือไม่สวยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของคนที่ทำเว็บไซต์ และยังเป็นมิตรกับ Google ด้วย ไว้ต่อยอดทำพวก Online Marekting ได้สบาย
คำถามที่ถูกถามบ่อยเกี่ยวกับ WordPress
WordPress คือ เครื่องมือสำหรับสร้างเว็บไซต์ ที่มีระบบหลังบ้านให้เราใช้งานได้ง่ายๆ ไม่ต้องเขียนโค้ด ซึ่งเป็นโอเพนซอร์ซให้เรานำไปใช้สร้างเว็บได้ฟรี ตอนนี้ WordPress ถูกใช้สร้างเว็บไซต์ทั่วโลก มากกว่า 35.8% ของเว็บไซต์ทั้งหมด
WordPress.org เป็นตัวที่ให้เราโหลดใช้งานได้ฟรี แต่ก็ต้องจดชื่อโดเมน และ เช่าโฮสติ้งเองทุกอย่าง
WordPress.com เจ้าของเดียวกับ .org แต่ .com ให้บริการเพลตฟอร์มสร้างบล็อก สร้างเว็บไซต์ โดยมีพื้นฐานเหมือนกัน มีแบบฟรีและเสียเงิน
สามารถทำเว็บไซต์ได้ทุกรูปแบบ ตั้งแต่เว็บไซต์ขนาดเล็ก จนถึงเว็บไซต์ขนาดใหญ่ ขึ้นอยู่กับความสามารถของเรา แต่ถ้าอยากได้ระบบที่ซับซ้อนขึ้น ที่มีฟังก์ชันเฉพาะด้าน ก็ต้องรู้การเขียนโปรแกรม การใช้ WordPress API
STEP 1 : จดชื่อ Domain (ชื่อเว็บไซต์) และ เช่าพื้นที่ Hosting
STEP 2 : ติดตั้ง WordPress
STEP 3 : เลือก Theme
STEP 4 : ตั้งค่า WordPress
STEP 5 : Go Live