ต้องติดตั้ง Plugin WordPress กี่ตัวถึงจะพอ และเท่าไหร่ถึงจะเรียกกว่ามากเกินไป?
ถึงแม้เราจะตอบแบบเปะๆ ไม่ได้อยู่แล้ว เพราะแต่ละรูปแบบเว็บไซต์จะไม่เหมือนกัน แต่ในบทความนี้ เรามาถกด้วยกันว่า ควรลงปลั๊กอินกี่ตัว แบบไหนที่เรียกกว่ามากเกินไปแล้วนะ หรือ ปลั๊กอินแบบไหนที่จะส่งผลกระทบในด้าน Security และ Speed
ผมเคยมีเคสที่ลูกค้ามาปรึกษาผมบ่อยๆ เรื่องเว็บไซต์โหลดช้า และเว็บไซต์โดนแฮกบ่อยๆ ซึ่งพอเข้าไปดูที่หลังบ้าน ปรากฏว่า มี Plugin ที่ถูกติดตั้งไว้เกือบร้อยตัว มีทั้งที่ใช้อยู่ และที่ไม่ได้ใช้แต่โหลดไว้เฉยๆ บางตัวไม่ได้อัพเดตมาหลายปีเลย
ผมเข้าใจดี โดยเฉพาะมือใหม่ พอเห็นปลั๊กอินหน้าปกสวยๆ รีวิวเยอะๆ กดติดตั้งไว้ก่อน ใช้ไม่ใช้ค่อยว่ากัน ซึ่งผลลัพธ์ที่ตามมาอาจจะไม่ได้ดีอย่างที่คิดครับ ฉะนั้นในบทความนี้เรามาถกด้วยกันว่าต้องติดตั้งปลั๊กอินกี่ตัวถึงจะพอ

ทำไมปลั๊กอินถึงสำคัญกับ WordPress?
Plugin ใน WordPress เปรียบเสมือนแอพในมือถือ โปรแกรมเสิรมในคอมพิวเตอร์ ที่จะมาเสริมความสามารถของระบบหลัก ให้ดียิ่งขึ้น เปลี่ยนเว็บไซต์ WordPress ธรรมดาๆ ให้กลายเป็นเว็บไซต์ที่เจ๋งขึ้น
WordPress มีปลั๊กอินฟรีให้เราใช้เกือบๆ 6 หมื่นตัว ซึ่งที่เราใช้จริงๆ ไม่กี่สิบตัว แต่ละหมวดก็มีหลายตัวให้เลือกอีก
เช่น หมวด SEO มี Rank Math, Yoast SEO ที่นิยม
หมวดปลั๊กอินจัดหน้า หรือ Page Builder ก็มี Elementor, Gutenberg, SiteOrigin
ซึ่งแต่ละหมวดควรลงแค่ตัวเดียว เพื่อไม่ให้มันชนกัน ตีกัน
Plugin WordPress ก็มีทั้งแบบฟรี และแบบเสียเงิน (ตัว Premium หรือ Pro) ตัวเสียเงินซื้อข้อดีคือ มันมีฟังก์ชันการตั้งค่าที่เยอะขึ้น มีลูกเล่นและความสามารถมากขึ้น
ปลั๊กอิน SEO ช่วยให้การทำ SEO ง่ายขึ้น, ปลั๊กอิน Cache ช่วยให้เว็บไซต์โหลดเร็วขึ้น, ปลั๊กอิน Security ช่วยให้เว็บไซต์ปลอดภัยยิ่งขึ้น
ถึงแม้ปลั๊กอินจะสำคัญขนาดไหน แต่ก็ควรคัดเลือกตัวที่ดี รองรับการใช้งานในระยะยาว
ติดตั้ง Plugin WordPress เยอะ ทำให้เว็บไซต์โหลดช้า?
ก่อนอื่นผมขอแบ่งปลั๊กอินที่เราใช้กัน เป็น 3 ประเภท
- ปลั๊กอินที่ใช้สำหรับแสดงผลในหน้าเว็บไซต์ เช่น Page builder, Slider, Gallery, Form
- ปลั๊กอินที่ใช้สำหรับหลังบ้าน เช่น ปลั๊กอิน Security, SEO, BackUP
- ปลั๊กอิน Third party ที่เชื่อมกับระบบภายนอก เช่น Chat, Map
เวลาเราติดตั้งปลั๊กอิน 1 ตัว ระบบจะไปสร้าง ตารางในฐานข้อมูล และจะอัพไฟล์ปลั๊กอินไปใส่ในโฮสติ้ง
โอเคแหละว่าปลั๊กอิน ทำให้เว็บไซต์มีลูกเล่นมากขึ้น น่าสนใจมากขึ้น แต่ยิ่งเราติดตั้งเยอะเท่าไหร่ ก็ยิ่งส่งผลกระทบมากขึ้นเท่านั้น เพราะแต่ละปลั๊กอินจะมีไฟล์ PHP, JavaScript, CSS ของตัวเอง ยิ่งเยอะ ก็ยิ่งทำให้ฐานข้อมูลและไฟล์บวมขึ้นเรื่อยๆ
จุดนี้แหละที่ทำให้เว็บไซต์เริ่มโหลดช้าขึ้นเรื่อยๆ
ฉะนั้นเวลาจะเลือกติดตั้งปลั๊กอิน ต้องเลือกให้ดีๆ เช่น ปลั๊กอิน Page Builder : Elementer, Gutenberg, SiteOrigin, etc. แต่ละตัวส่งผลเรื่องสปีดต่างกัน ให้คิดง่ายๆ ว่า ตัวไหนที่มีฟีเจอร์เยอะๆ ส่วนใหญ่จะหนัก
ผมเคยเขียนบทความสรุป 11 Pluign WordPress แนะนำ ตามไปอ่านกันได้ครับ
ปลั๊กอินที่ผมแนะนำให้ระวังเป็นพิเศษ ที่กระทบกับ Speed โดยตรง เช่น ปลั๊กอินที่มักจะทำงานอยู่เบื้องหลัง (Background processes) และปลั๊กอินที่เชื่อมกับระบบภายนอก
- ปลั๊กอินนับสถิติยอดวิว มันจะเก็บสถิติยอดวิวในฐานข้อมูลเรื่อยๆ จนบวม แนะนำให้เชื่อมกับ Analytics
- ปลั๊กอิน Security บางตัว ที่คอย monitor เว็บไซต์เราตลอดเวลา
- ปลั๊กอิน หรือ Script ที่เป็น Third party เช่น แผนที่ Google Map, Chat, Fonts, Youtube, Facebook Page, iFrame ต่างๆ เป็นต้น
พวกปลั๊กอิน หรือ Script ที่เป็น Third party เลี่ยงได้ก็เลี่ยงครับ หรือ พยายามใช้ให้น้อยที่สุด เท่าที่จะทำได้
จริงๆ สาเหตุทำให้เว็บไซต์โหลดช้า ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกหลาายปัจจัย แต่ปลั๊กอินคือหนึ่งในนั้น
วิธีให้ WordPress โหลดเร็ว ต้องทำอะไรบ้าง
ปลั๊กอินแบบไหนที่จะทำให้เว็บไซต์พัง และโดนแฮกง่าย?
การทำเว็บไซต์ ถ้าหวังว่าจะใช้เว็บไซต์ยาวๆ ควรให้ความสำคัญกับเรื่อง Security อีกเรื่องนึงครับ ต่อให้เว็บไซต์สวยแค่ไหน มีลูกเล่นเจ๋งๆ เยอะแค่ไหน แต่ถ้ามันพังบ่อย โดนแฮกบ่อย ก็ไม่ไหวจะแก้ถูกไหมครับ
การเลือกใช้ปลั๊กอินดีๆ ตั้งแต่แรก ช่วยลดความเสี่ยงของปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
ส่วนใหญ่เว็บไซต์ที่โดนมัลแวร์ สแปม โดนแฮก ไม่ใช่เพราะ WordPress ไม่ปลอดภัย แต่มักจะโดนจากช่องโหว่ของปลั๊กอินที่เราติดตั้งเข้าไป
ปลั๊กอินที่ควรหลีกเลี่ยง
- Last updated : ปลั๊กอินที่ไม่ได้อัพเดตมาหลายปี
- Reviews : รีวิวดาว 1-3
- Active installations : จำนวนคนที่ใช้น้อยเกินไป
ส่วนใหญ่เว็บไซต์ที่โดนแฮก ที่ผมเจอมากับตัวเอง มาจากการที่เราไม่เคยอัพเดต WordPress ไม่เคยอัพเดต Plugin ทิ้งช่วงการอัพเดตนานเป็นปี ซึ่งก็ไม่แปลกใจถ้าจะมีบางปลั๊กอินที่กลายเป็นช่องโหว่
ผมแนะนำให้อัพเดต WordPress, Plugin และ Theme อย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะโดนแฮก
อีกปัจจัยนึงที่ส่งผลเรื่องความปลอดภัย คือ Hosting ครับ ต้องหาโฮสติ้งที่มีระบบการป้องกันที่ดีด้วย อย่ามองแค่ราคาถูกอย่างเดียว
ผมเคยมีประสบการณ์แก้เว็บให้ลูกค้า เว็บไซต์โดนมัลแวร์ ถึงแม้จะแก้ท่าไหนก็ตาม โหลดทุกอย่างใหม่เอี่ยม ก็ยังโดนซ้ำๆ สุดท้ายตัดสินใจลองเปลี่ยนโฮสติ้ง ปรากฏว่า หลังจากนั้น ไม่โดนมัลแวร์อีกเลย แนะนำลองไปอ่านบทความ วิธีเลือกโฮสติ้งที่รู้ใจ WordPress
ควรติดตั้ง Plugin WordPress กี่ตัวถึงจะพอดี
ปัญหาไม่ได้อยู่ที่จำนวนที่ติดตั้ง แต่อยู่ที่คุณภาพของปลั๊กอินที่เราติดตั้งมากกว่าครับ และแต่ละตัวที่เราติดตั้ง มันจำเป็นจริงๆ หรือเปล่า แต่ละประเภทเว็บไซต์ ใช้ปลั๊กอินไม่เหมือนกัน
โดยเฉลี่ยที่ผมเจอมา จะอยู่ระหว่าง 15-30 ตัว นานๆ ที จะเจอที่ 40-60 ตัว
แนะนำให้ติดตั้งเท่าที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น
แม้ว่าเราติดตั้งเฉพาะปลั๊กอินคุณภาพเกรด A แต่ถ้าติดตั้งเยอะมากๆ และแต่ละตัวมี Script ที่หนักๆ ทั้งนั้น ก็จะไปกระทบกับเรื่อง Speed อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับผม ต้องอยู่ตรงกลางระหว่าง คุณภาพ + ความจำเป็น = พอดี
แต่อยากให้รู้อย่างนึงว่า ยิ่งปลั๊กอินเยอะ เวลามีปัญหาจะลำบากนิดนึง เช่น ถ้ามีสัก 50 ตัว ถ้าโดนไวรัสมัลแวร์ ก็ต้องเช็คทุกตัวว่า ตัวไหนเป็นตัวต้นเหตุ บ่อยครั้งบางปลั๊กอินก็ตบตีกันเอง (Conflicts) และจะไปกระทบกับเรื่อง Speed อีกด้วย
ฉะนั้นเบาได้เบา
สรุป
สำหรับใครที่ยังสงสัยว่า ติดตั้ง Plugin WordPress กี่ตัวถึงจะพอ น่าจะพอเข้าใจบ้างแล้วว่า ประเด็นไม่ได้อยู่ที่จำนวนปลั๊กอิน แต่อยู่ที่คุณภาพและความจำเป็น และปลั๊กอินยังส่งผลไปถึงเรื่อง Security และ Speed ของเว็บไซต์อีกด้วย ฉะนั้นถ้าอยากใช้เว็บไซต์ไปยาวๆ ควรเลือกปลั๊กอินให้ดีๆ ตั้งแต่ตอนทำเว็บใหม่ๆ
หากชอบบทความแนวนี้ สาระแบบนี้ ฝากกดไลค์ กดแชร์ด้วยคร้าบบ